originally article written / posted August 18, 2008 : by SIAM Freedom Fight
ระหว่างชาติพันธุ์ที่เกิดมาเป็นทาส กับชาติพันธุ์ที่เกิดมาเป็นไท แตกต่างกันที่กระบวนคิด
01
ในสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐบาลประกาศเลิกทาส รวมทั้งยกเลิกระบบไพร่ทั้งหมดในราชอาณาจักร
การศึกษาไทยมักจะสอน และเปรียบเทียบปรากฏการณ์นี้กับการประกาศเลิกทาสในประเทศ
สหรัฐอเมริกา และพยายามบอกว่าเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน
ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว..แต่เป็นแค่ความจริงเพียงครึ่งเดียว
การเลิกทาสอย่างเป็นทางการในสหรัฐอเมริกานั้น
ประกาศเมื่อสงครามกลางเมืองดำเนินไปได้สักระยะหนึ่ง ถึงแม้ประเด็นการมีหรือไม่มีทาสจะเป็นหนึ่งในสาเหตุ
ของความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองสหรัฐ แต่ไม่ใช่สาเหตุทั้งหมด และไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่สุดด้วยซํ้า
แต่สาเหตุหลักที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกา
คือความขัดแย้งเกี่ยวกับอธิปไตยของมลรัฐและอำนาจของรัฐบาลกลาง
เมื่อตกลงกันไม่ได้ พูดกันไม่รู้เรื่องสักที..ก็ต้องรบกัน
แม้ฝ่ายเหนือ..หรือรัฐบาลกลางสหรัฐจะชนะสงคราม
แต่ฝ่ายใต้ก็ชนะในเรื่องหลักการ เพราะรัฐบาลกลางให้การยอมรับในอธิปไตยของมลรัฐ และ/หรืออธิปไตยของ
ปวงชน ว่าคืออำนาจสูงสุดของประเทศ – ส่วนการที่รัฐบาลกลางประกาศเลิกทาสในระหว่างสงครามกลางเมือง
ก็เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่สงคราม และเป็นการสกัดกั้น..มิให้อังกฤษเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายใต้
สงครามกลางเมืองเป็นโศกนาฏกรรมของอเมริกา สร้างความหายนะทางเศรษฐกิจและชีวิตผู้คนมากมายมหาศาล
แต่สิ่งที่ได้คือประเทศชาติสามารถรวมกันเป็นหนึ่ง อธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างสมบูรณ์.. หรืออย่างน้อยก็เป็น
ของปวงชนมากกว่าชาติอื่นในโลก แถมวัฒนธรรมการเลี้ยงทาสยังถูกกำจัดไปจากแผ่นดิน
ในสยามประเทศ การเลิกทาสเกิดขึ้นเพื่อล้มระบอบศักดินา
ไม่ใช่เพื่ออธิปไตยของปวงชน แต่เป็นการสร้างความมั่นคงแก่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
การเลิกระบบไพร่ คือการตัดกำลังไพร่พลของขุนนาง ซึ่งกำลังไพร่ในสังกัดขุนนางนี้เคยใช้ในการรัฐประหาร
ครั้งแล้ว ครั้งเล่า..นับแต่กรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา
(แนะนำให้อ่านหนังสือ "การเมืองเรื่องสถาปนาพระจอมเกล้าฯ" โดยเทอดพงศ์ คงจันทร์ สำนักพิมพ์มติชน -
ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งกล่าวถึงอำนาจของขุนนาง ที่มีบทบาทอิทธิพลต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างสูง -
สื่ออำมาตยาธิปไตยจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีในการศึกษาระบอบศักดินา)
ซึ่งแน่นอนว่า การเลิกทาสในประเทศสยามปราศจากการนองเลือด
เพราะไม่รู้จะไปนองเลือดกับใคร ในเมื่ออำนาจขุนนางเวลานั้นก็ไม่ได้มากมายเหมือนในสมัยรัชกาลก่อน
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวหักมุมแบบไทยๆ ที่เรามักได้ยินกันเสมอ คือ ทาสที่ปล่อยแล้วไม่ยอมไป
กลายเป็นว่าคนที่ไม่ยินดีกับการเลิกทาส ก็คือพวกทาสนั่นเอง
ศูนย์อำนาจของราชอาณาจักรอยู่ที่ภาคกลางและเมืองหลวงคือกรุงเทพฯ
จำนวนทาส..และลูกหลานทาสส่วนใหญ่จึงอาศัยในแถบภาคกลาง
ในขณะที่ภาคอีสานสมัยก่อนเป็นดินแดนห่างไกลจากศูนย์อำนาจ แทบจะเป็นดินแดนอิสระในชีวิตประจำวัน
ส่วนภาคเหนือนั้นก็เป็น "อีกอาณาจักรหนึ่ง" มาตลอด ถึงจะอิงอำนาจการเมืองของกรุงศรีอยุธยาบ้าง พม่าบ้าง
หรือกรุงเทพฯบ้าง แต่ในวิถีชีวิตปกติก็เป็นอิสระในตนเอง เป็นอาณาจักรล้านนา - และเพิ่งจะมารวมกับกรุงเทพฯ
ในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เอง (ยังมีเบื้องหลังการรวมอาณาจักรที่ไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้)
ส่วนประเด็นที่ว่าประชากรลูกหลานทาสที่อาศัยอยู่ในภาคกลางซึ่งเป็นศูนย์อำนาจนี้
ก็ขออนุญาต - จะยังไม่ขยายความในที่นี้
02
"สามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์" กลายเป็นแค่ "ข้ออ้าง" ที่จะใช้กดหัวประชาชน
และเปิดโอกาสให้ชนชั้นปฏิกิริยาสามารถทำตัวเป็น "กาฝาก" ได้อย่างชอบธรรม
ในวัยเยาว์ เราเรียนรู้จากระบบการศึกษา ถึงคำว่าสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ ล้วนเป็นคำที่มีความหมายดีงาม
เป็นวัตถุประสงค์หลักในชีวิตและระบอบการบริหารบ้านเมือง แม้การศึกษาในวัยเยาว์นั้นจะเป็นการศึกษาภายใต้
ระบอบอำมาตยาธิปไตย เป็นแนวคิดฝังหัวที่เกิดจากการรัฐประหาร 2490 และ 2500 แต่จะอย่างไรก็ตาม คำว่า
"สามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์"ก็ยังเป็นความหมายที่งดงาม ไม่ว่าในระบอบใด
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราเห็นโลกมาหลายต่อหลายทศวรรษ
และยามบ้านเมืองวิกฤติจึงเรียนรู้ว่า "สามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์" ก็เหมือน "เปลือกของความดีงาม"
อีกหลายต่อหลายอย่างในสังคมนี้ คือเป็นแค่ "ข้ออ้าง" ที่จะไม่ทำอะไร หรือทำให้น้อยที่สุด
เป็นข้ออ้างเพื่อยอมก้มหัวอยู่ใต้ฝ่าตีนผู้มีอำนาจให้มากที่สุด
และไม่เสียความรู้สึกของตนเอง ..คือเป็นทาสที่ยังกร่างได้
แล้วรู้ทั้งรู้ว่า การรัฐประหารนั้นคือการเป็นโจรกบฏ
มีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 113 มีโทษถึงประหารชีวิต
แล้วคนในบ้านเมืองนี้ทำอะไร..เมื่อโจรปล้นเมือง
คนในบ้านเมืองนี้ก็ยังท่องคาถา "สามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์" กับโจร
ขอความเมตตาจากโจร หวังความยุติธรรมจากโจร
ยอมรับกฎหมายโจรไปก่อน..แล้วหวังว่าโจรท่านคงยอมให้แก้ไขทีหลัง หวังให้โจรยึดมั่นในกติกาที่โจรเขียนขึ้นมา
หวังให้กรรมการที่โจรตั้งขึ้นจะมีความยุติธรรมต่อคนที่ถูกโจรปล้น ยอมก้มหน้าก้มตาปฏิบัติตามกระบวนการโจร -
แล้วบอกว่าเรายังอยู่ในระบอบประชาธิปไตย เมื่อโจรไม่เมตตา..ก็หันมาปลอบใจกันเองว่า "เอาเถอะ โจรมันแก่แล้ว
วันหนึ่งมันก็ต้องตาย" ก็หวังไว้ว่าลูกหลานโจร เมียโจรมันจะไม่เป็นโจรเหมือนพ่อแม่มัน ??? ก็เอาเถอะ
หากคำว่า "สามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ สันติภาพ"
คือการยอมให้สัตว์นรกกดขี่กดหัว รุ่นแล้วรุ่นเล่า เป็นทาสที่ดีและมีชีวิต
แล้วหลอกตัวเองว่าบ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตย
แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่การยอมก้มหัวใต้ฝ่าตีนชนกลุ่มน้อย
ไม่ใช่การยอมก้มหัวใต้ฝ่าตีนใครทั้งนั้น ประชาธิปไตยคืออธิปไตยเป็นของปวงชน
โดยยึดเอาเสียงส่วนใหญ่เป็นสำคัญ.. ขณะที่ไม่กดขี่ประชากรกลุ่มน้อย
ประชาธิปไตยต้องอยู่บนพื้นฐานความเสมอภาค เสรีภาพ ภาดรภาพ
นั่นคือ คนจน หรือ คนรวย .. คนทีการศึกษา หรือ ไม่มีการศึกษา ย่ิอมมีสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมกัน
เมื่อไม่มีความเสมอภาค ย่อมไม่มีเสรีภาพ เมื่อไม่มีเสรีภาพ ย่อมไม่มีภาดรภาพ - ไม่มีสันติภาพ
ทุกคนอยากนอนอยู่บ้านสบายๆทั้งนั้น ไม่มีใครอยากเดือดร้อน แต่บางครั้ง ชีวิตก็ไม่ปล่อยทางเลือกแสนสุขให้
กับเราสักเท่าใด - ในปี พ.ศ. 2310 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ประชากรสมัยนั้นก็มีทางเลือกว่าจะหลบอยู่ใน
กำแพงเมืองกับพระเจ้าเอกทัศ หรือจะออกไปเสี่ยงชะตากรรมกับพระยาตาก ..มุดหัวอยู่ภายในกำแพงเมือง
กรุงศรีอยุธยาก็ดูเหมือนจะปลอดภัย นอนเฉยๆ ไม่ต้องสู้รบกับใคร สงบ สันติ และเป็นกลาง ยามเมื่อพม่าพังกำแพง
เมืองเข้ามา คนเหล่านี้ก็ไปเป็นทาสพม่า ถูกกวาดต้อนไปอยู่พม่าจนทุกวันนี้ ก็เป็นทาสที่สุขสบายดี - แต่ถ้าเลือกที่
จะร่วมทางกับกองทัพพระยาตาก โอกาสตายก็มีสูง .. แต่จะอยู่อย่างทาส หรือจะตายอย่างเสรีชน
คำตอบในหัวใจ สุดแต่ใครเกิดมาเพื่อเป็นทาส
หรือใครเกิดมาเพื่อเป็นไท ..อย่างที่บอก มันต่างกันที่กระบวนคิด