Wednesday, August 5, 2009
การล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา
article : SIAM Freedom Fight
ในฐานะนักเรียนไทย เราถูกสอนแบบกว้างๆว่า..พม่าข้าศึกยกทัพมาเผาเมือง
คนไทยไม่สามัคคีกัน จึงพ่ายแพ้หมดรูป ..ก็เท่านั้น
แต่ในฐานะประชาชนไทย.. เกิดคําถามตามมาอีกว่า
แล้วอะไรทําให้คนไทยยุคนั้น"ต้องไม่สามัคคีกัน" ??
ประเด็นนี้ขออ้างอิงงานเขียนของอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์
ซึ่งบุคคลผู้นี้ได้ศึกษาประวัติศาสตร์มาเป็นเวลานาน มีงานเขียนสําคัญตีพิมพ์มากมาย
หลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวการเมืองในสมัยพระนารายณ์มหาราช การเมืองในสมัย
พระเจ้ากรุงธนบุรี และอื่นๆอีกมาก ล้วนแต่เชื่อมโยงเป็นประเด็นเดียวกันทั้งสิ้น สามารถหา
ซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป เพื่อวิเคราะห์ด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม มีหลายเรื่องหลายประเด็นน่าสนใจ เมื่อเทียบเคียงกับสถานการณ์
บ้านเมืองปัจจุบัน นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงวิกฤติเศรษฐกิจและ
โรคระบาด ไปจนถึงศึกสงครามคุกรุ่นตามแนวชายแดนในปี 2552
คือกรุงศรีอยุธยาของเรามีการปรับปรุงระบบราชการมาหลายครั้งหลายหน ตามสถานการณ์
ในแต่ละยุคสมัย แต่ปัญหาหลักปัญหาใหญ่เรื้อรังมาแต่ต้นอาณาจักรคือ"อํานาจของหัวเมือง"
รัฐบาลกลางยามอ่อนแอมีปัญหา จะปราศจากอํานาจควบคุมหัวเมืองสําคัญไว้ได้ จึงจําต้องมี
ระบบรวมศูนย์อํานาจไว้ที่เมืองหลวง และต้องเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้ได้ต่อเนื่อง ไม่ว่าใครจะ
ขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์ ระบบที่ว่านี้เริ่มลงตัวในสมัยของพระเอกาทศรถ ซึ่งสืบเนื่องมาจาก
การวางระบบในสมัยพระนเรศวรมหาราช
ล่วงเลยถึงราชวงศ์บ้านพลูหลวง ระบบปฏิบัติการนี้เริ่มส่งผลข้างเคียง และบังเอิญว่าไม่มีการ
ยกเครื่องให้เข้ากับสถานการณ์โลก(ในยุคนั้น) ความเข้มแข็งของ"ศูนย์กลาง" คืออยุธยา
ตามระบบเดิมนั้น กลับสร้างความอ่อนแอให้กับหัวเมืองอย่างที่สุด และผลข้างเคียง
ในระยะยาว คือความไม่ใยดีของประชาชน
เมื่อส่วนกลางเริ่มเกิดอาการอ่อนแอ หัวเมืองที่อ่อนแออยู่แล้วก็ยิ่งแย่ลงไปอีก
แม้แง่ดีคือไม่ฉวยโอกาสแข็งข้อกับส่วนกลาง เพราะไม่อยู่ในสภาพจะแข็งข้อได้
แต่ก็มิได้เป็นประโยชน์อันใดต่ออาณาจักร..
ระบบนี้แก้ปัญหาเรื่องหัวเมืองเกเร แต่ตลอดเวลาไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องรัฐประหารในเมืองหลวง
การรัฐประหารในเมืองหลวงจะใช้กําลังทหารไม่มาก เป็นการยึดอํานาจกันภายใน ด้วยกําลังเพียง
หยิบมือ (ยกเว้นการยึดอํานาจของพระเพทราชาที่แตกต่างออกไป) คือในสมัยอยุธยา
ไม่มีกองทหารประจําการมืออาชีพจริงๆ เป็นลักษณะของกองทัพประชาชน หรือทัพไพร่ ..
ผู้คนในแผ่นดิน หรือในเขตอิทธิพลของรัฐ จะต้องมีการสังกัดไพร่
จะเป็นไพร่หลวง (ไพร่ของส่วนกลาง) หรือไพร่สม (ไพร่ของขุนนาง)
ผู้คนส่วนมากนิยมเป็นไพร่สม เพราะไพร่หลวงนั้นงานหนักและไม่มีเจ้านายคอยคุ้มกะลาหัว
ไพร่สมอยู่กับขุนนาง งานหนักบ้างเบาบ้างก็ยังมีเจ้านายคอยดูแลจริงๆ อีกทางเลือกหนึ่งคือ
ไปเป็น"ทาส" บางคนชอบเป็นทาสมากกว่าเพราะสบาย ทาสอยู่ติดเจ้านายตลอดชีวิต
เป็นทาสกันจนถึงลูกหลาน ไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานนอกระบบ เพราะทาสคือ
ทรัพย์สินของนาย แต่ไพร่ยังมีฐานะเป็นผู้คนทั่วไป ชีวิตเหลือจากการถูกเกณฑ์แรงงาน ก็ต้อง
ดิ้นรนต่อสู้เอาเอง
คราวนี้ ขุนนางมีศักดินา..ก็มีไพร่ในสังกัดกันทั้งนั้น เรียกว่ามีตําแหน่งก็จะได้มีไพร่พลเข้ามา
ด้วย เป็นกองทัพน้อยๆของตนเอง ..เวลายึดอํานาจ-รัฐประหารก็จะซ่องสุมไพร่พลของตน
มาเป็นกําลัง ปัญหาคือไพร่ไม่ใช่ทหารประจําการ ใช้งานที่ต้องเรียกเกณฑ์ ระดมพลกว่าจะได้
พร้อมหน้าพร้อมตาก็ฟาดเข้าไปสองสามเดือน จากจุดอ่อนของระบบตรงนี้ พระมหากษัตริย์
แต่ละพระองค์จึงต้องมีกองทหารรับจ้าง ส่วนมากเป็นคนต่างชาติ เป็นฝรั่ง ญี่ปุ่น แขก จีน..
ตามแต่รสนิยมของแต่ละพระองค์ กองทหารรับจ้างประจําการอยู่ทุกวัน ไม่อยู่ในระบบไพร่
ใครจ่ายเงินให้คนนั้นก็เป็นนายจ้าง(ชั่วคราว) จึงปลอดภัยที่จะใช้งานมากกว่าคนไทยด้วยกัน
(ซึ่งไม่มีทางรู้ว่าใครแอบปันใจไปให้ขุนนางคนไหนบ้าง)
ขณะที่หัวเมืองอ่อนแอลงไปเรื่อยๆตามกาลเวลา ระบบส่วนกลางก็เริ่มเสื่อมสลายตามไปด้วย
จนท้ายที่สุด ปลายราชวงศ์บ้านพลูหลวง เกิดปัจจัยภายนอก..เข้ามาสะกิดระบบที่เสื่อมสลาย
ให้กลายเป็น"การล่มสลายที่สมบูรณ์" นั่นคือมหาอํานาจจากทิศตะวันตก..คือ พม่า
พม่าเพิ่งฟื้นฟูอาณาจักรขึ้นมาใหม่ และตัดสินใจทําลาย"ปัจจัย"ที่มีส่วนสนับสนุนให้พม่าต้อง
ล่มสลายไปเมื่อครั้งก่อน ปัจจัยที่ทําให้พม่าต้องรบพุ่งกับมอญ ไทยใหญ่อยู่นานนับศตวรรษ..
ปัจจัยหลักที่ว่าคือ..กรุงศรีอยุธยา ว่าแล้วจึงพากันยกพวกมาเผาเมืองอยุธยาให้สูญสิ้นไปเสีย
หากในภาวะปกติ คงรบกันยืดเยื้อยาวนาน จนพม่าอาจอ่อนแรงจนต้องถอยทัพกลับไปเอง
เพราะการเมืองระหว่างประเทศของไทยยุคนั้นมีความเชี่ยวชาญในการยุยงให้เพื่อนบ้านตีกัน
เอง จนไม่มีเรียวแรงมายุ่งกับเรา ..แต่ในสภาพเสื่อมสลายของระบบภายใน จึงไม่มีการออก
อาวุธลับทางการเมือง ..ในสภาพหัวเมืองอ่อนแอ ทัพพม่าสามารถตีไล่มาเรื่อย รวดเร็ว
จนถึงกําแพงถึงกําแพงกรุงศรีฯ ..ตรงนี้แหละที่เป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงความเสื่อมของระบบ
ไม่ใช่ว่าหัวเมืองไม่สู้ แต่ไม่มีอะไรจะเอาไปสู้กับข้าศึก ด้วยกําลังน้อยนิด จึงคิดปกป้องเมือง
ของตนเอง มากกว่าที่จะละทิ้งพื้นที่..เพื่อมาปกป้องอยุธยา ทางเลือกของเจ้าเมืองต่างๆมีไม่
มากนัก คือยอมแพ้พม่า..แล้วไปเป็นพวกเดียวกับมัน หรือรักษากําลังไพร่พลตนเองไว้ แล้ว
วางตัวเป็นกลาง..ตั้งตนเป็นรัฐอิสระไปเลย (เป็นที่มาของชุมนุมต่างๆ) หรือท้ายสุดสําหรับ
ขุนนางที่ไม่มีกําลังไพร่พลมากนัก ถึงไปเข้ากับพม่าก็ไม่มีทางรุ่งเรือง (เพราะไม่มีกําลังพล
มากเพียงพอที่จะทําผลงานอะไรได้) จะรักษาเมืองตัวเองไว้ก็ยาก เพราะยังไงก็แพ้แน่ๆ
ทางเลือกของกลุ่มสุดท้ายนี้คือต้องลงมาช่วยอยุธยารบกับพม่า แล้วค่อยคิดอ่านกันต่อไป..
เป็นการรักษากําลังพลที่ดีที่สุดของกลุ่มสุดท้าย ..
การตัดสินใจเหล่านี้สําหรับคนในอดีต ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร
เพราะยุคนั้นไม่มีคําว่า"ชาติ"
คําว่า"ชาติ"เป็นแนวคิดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19ในโลกตะวันตก
ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม(และทุนนิยม) คนไทยเพิ่งรู้จักคําว่าชาติก็หลังจากที่
ฝรั่งคิดขึ้นมาได้ไม่นาน คือช่วงรัชกาลที่ 5 ที่ 6 เรานี่เอง ดังนั้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย
เป็นเรื่องของอาณาจักร เรื่องของความผูกพันกับส่วนกลาง ..เมื่อความผูกพันทางการเมือง
ทางการทูต ทางอํานาจและเศรษฐกิจไม่มีเหลือ ..ก็ทางใครทางมัน
ปรากฏการณ์บ่งชี้ความเสื่อมสลายของระบบอีกหนึ่งคือ การต่อสู้ของชาวบางระจัน
ชาวบ้านชุมนุมบางระจัน..คือผู้คนอิสระที่รวบรวมกันต่อสู้กับพม่า
เพื่อรักษาถิ่นฐานของตน และต่อสู้อย่างกล้าหาญจนเป็นตํานานเล่าขาน ..
คําถามทางประวัติศาสตร์คือ พวกเขามาจากที่ไหนกันบ้าง ..
ก็มาจากพื้นที่ใกล้เคียงในภาคกลางปัจจุบันนี้เอง คําถามต่อไปคือพื้นที่เหล่านั้น
อยู่ห่างกรุงศรีอยุธยาเพียงนิดเดียว แล้ว"คนอิสระ"เหล่านี้ ..เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ??
นอกเสียจากเป็นผู้คนที่ไม่ยอมเข้าระบบไพร่มาตั้งแต่ต้น
เพราะถ้ามีสังกัด..ก็ต้องมีนาย แล้วถ้ามีเจ้านาย พวกเขาก็ต้องอยู่กับเจ้านายต้นสังกัด
ผู้คนที่ป้วนเปี้ยนไม่ไกลจากกรุงศรีฯ ไม่มีสังกัด แล้วยังรวมกันจนรบชนะพม่าหลายครั้ง !!..
นี่เท่ากับว่าระบบเกณฑ์ไพร่ของอยุธยาตอนปลายคงจะล่มสลายไปได้พักใหญ่ๆแล้ว
ก่อนที่พม่าจะเข้ามาด้วยซํ้า ระบบไพร่ซึ่งเป็นหัวใจสําคัญของระบบกลไกทั้งมวลในอาณาจักร
แล้วทําไมขุนนางหรือส่วนกลางไม่สามารถจัดการกับ"คนอิสระ" ที่ไม่มีสังกัดเหล่านี้ได้
ทั้งที่มีโทษถึงตายทีเดียว ..
ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า-- รัฐไม่มีอํานาจพอที่จะไปบังคับใครได้..พักใหญ่ๆแล้วด้วย
พูดง่ายๆคือคนไม่เชื่อ ไม่ฟัง ไม่กลัว ไม่ใยดีกับส่วนกลาง
ระบบใดนั้น..ย่อมอยู่ด้วยความเชื่อถือศรัทธาและความรัก
ไม่มีความรู้สึกเหล่านี้หลงเหลือ ระบบนั้นย่อมล่มสลายไปเอง
พระยาตาก..หรือพระเจ้าตากสินมหาราช
วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลของประชาชนไทย ยกกองทัพทหารจีนไม่กี่ร้อยคน มาตั้งค่าย
ป้องกันกรุงศรีฯอยู่นอกกําแพงเมือง อยู่ได้ไม่นาน ท่านก็ตัดสินใจทิ้งกรุงศรีอยุธยา พาไพร่พล
ไปทางตะวันออก ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์..
แม้ตอนนั้นอยุธยายังไม่แตก แต่ก็ไม่มีอนาคตหลงเหลืออีกแล้ว เรียกว่าระบบล่มสลายอย่าง
สมบูรณ์ ทุกคนจึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะรักษาชีวิตประชาชนของตนเอง ขณะเดียวกันทาง
ฝั่งตะวันออก ชลบุรี ศรีราชาแถบๆนั้น เขาก็แยกตัวเป็นรัฐอิสระกันไปนานแล้วเช่นกัน เมื่อ
พระเจ้าตากยกทัพไปถึง..จึงต้องเจรจากับผู้นําท้องถิ่น เพื่อไม่ต้องฆ่ากันให้ตาย
ทั้งหมดนี้ ไม่เกี่ยวกับคนไทยไม่สามัคคี ไม่ใช่ว่าคนไทยไม่กล้าหาญ
เพราะคนที่เขาทิ้งกรุงศรีอยุธยาและราชวงศ์บ้านพลูหลวงอย่างปราศจากเยื่อใย
คนเหล่านั้นกลับยอมสู้ตายถวายชีวิต..เพื่อพระเจ้าตากสิน
พูดภาษาชาวบ้านง่ายๆก็คือ ผู้คนเขาเกลียดคนหนึ่งแต่รักอีกคนหนึ่ง
พูดภาษาชาวบ้านง่ายๆก็คือ ผู้คนเขาไร้เยื่อใยไร้ศรัทธากับคนหนึ่ง แต่มีหัวใจให้อีกคนหนึ่ง
คนหนึ่ง..คือผู้ครองอาณาจักรแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง อีกคนแค่ข้าราชการธรรมดา เป็นแค่
พ่อค้ากองเกวียนเชื้อสายจีน ..คนหนึ่ง..ผู้คนด่าสาบแช่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2310 จนถึง 2552
อีกคนหนึ่ง มีประชาชนยอมตายถวายชีวิตให้ ยังเป็นวีรบุรุษในใจประชาชนมาถึงปัจจุบัน
ว่าง่ายๆก็คือ คนไทยรักใคร่สามัคคี และกล้าหาญเป็นปกติ
เขาแค่ไม่ยอมเปลืองตัวให้กับคนที่เขาไม่รักเท่านั้น ..กรุงศรีอยุธยาล่มสลายเพราะคนไม่รัก
ก็เป็นบทเรียนกับคนไทยปัจจุบัน และเหล่าอมาตยาธิปไตยทั้งหลาย ระบบใดนั้น..ย่อมอยู่ด้วย
ความเชื่อถือศรัทธาและความรัก ไม่มีความรู้สึกเหล่านี้หลงเหลือ ระบบนั้นย่อมล่มสลายไปเอง
"กรุงศรีอยุธยาล่มสลายเพราะคนไม่รัก"
ก็อย่าให้มีคนเกลียดชังไปมากกว่านี้ อย่าดูถูกประชาชนมากไปกว่านี้