article : ใจ อึ๊งภากรณ์
January 14, 2010
ทำไมชาว เฮติ ถึงยากจน ขณะที่ประชาชนถูกซ้ำเติมด้วยแผ่นดินไหว ?
คำตอบสั้นๆคือ “จักรวรรดินิยม”
เพราะภายใต้อิทธิพลของจักรวรรดินิยม ชาวเฮติถูกนำมาเป็นทาส
ถูกปล้น ถูกกดขี่โดยเผด็จการ
และเกาะของพวกเขาถูกยึดครอง..โดยทหารสหรัฐสามครั้ง
เกาะที่เดิมชื่อ Hispaniola ในทะเลแคริเบียนถูกแบ่งระหว่างสเปนกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1697
และภายใต้ระบบทาสในไร่อ้อย เกาะนี้สร้างความร่ำรวยมหาศาลให้กับชนชั้นปกครองยุคกษัตริย์ของฝรั่งเศส
แต่ในปี 1791 ซึ่งตรงกับช่วงการปฏิวัติล้มเจ้าของฝรั่งเศสเอง ทาสทั้งหลายในเฮติได้ลุกฮือกบฏ และสร้างกองทัพเพื่อ
ปลดแอกตนเอง ผู้นำสำคัญของกองทัพทาสคือ Toussaint L’Ouverture และในที่สุด หลังจากการต่อสู้กับกองทัพจาก
อังกฤษและประเทศอื่นที่ต้องการฟื้นฟูระบบทาส ชาวเฮติก็ได้รับชัยชนะ มีการยกเลิกทาส และประกาศให้เป็นประเทศ
อิสระภายใต้การปกครองของอดีตทาส อย่างไรก็ตามในปี 1825 รัฐบาลฝรั่งเศสบังคับให้เฮติจ่าย “ค่าชดเชยสำหรับ
สมบัติของฝรั่งเศสที่เสียไป” ถึง 150 ล้าน ฟรัง ซึ่งมีผลสำคัญที่ทำให้เฮติติดกับดักหนี้สินมาจนถึงทุกวันนี้
ในปี 1915 สหรัฐอเมริกาส่งทหารมายึดครองเฮติ และในเวลาต่อมา
สหรัฐส่งทหารบุกเกาะนี้อีกสองครั้ง ในปี 1957 (ปีที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารในไทย)
สหรัฐให้การสนับสนุนกับเผด็จการโหดร้ายของ Papa Doc Duvalier
เพราะสหรัฐมองว่าเป็นแนวร่วมสำคัญในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ -
Papa Doc ชอบให้ประชาชนเรียกเขาว่า “พ่อ” และกดขี่ควบคุมประชาชนด้วยกองกำลังอันธพาล
ชื่อ Tonton Macoute หลังจากที่ Papa Doc ตายในปี 1971 ลูกชายที่ทุกคนเรียกว่า
“Baby Doc” ก็สืบทอดอำนาจพร้อมกับได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐต่อไป
พวกอภิสิทธิ์ชนของเฮติในปัจจุบัน ประกอบไปด้วยตระกูลที่ได้ดิบได้ดีในยุคนี้ บวกกับพวกนายทหารชั้นสูงและพ่อค้า
พวกนี้กอบโกยความร่ำรวยในขณะที่ประชาชนยากจน ทุกวันนี้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในระดับต่ำกว่า 60 บาทต่อวัน
แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีงานทำและรายได้ต่ำกว่านี้
ในปี 1986 มีการลุกฮือของมวลชนที่สามารถโค่นล้มเผด็จการ Baby Doc นี่คือจุดเริ่มต้นของขบวนการ “Lavalas”
ซึ่งชื่อ Lavalas หมายถึง “น้ำป่าท่วม” หรือ “มวลประชาชน” และเป็นขบวนการของคนยากคนจนที่ต้องเผชิญหน้ากับ
อภิสิทธิ์ชนหรืออำมาตย์ ผู้นำขบวนการนี้เป็นพระศาสนาคริสต์ชื่อ Jean-Bertrad Aristide และในปี 1990 Aristide ชนะ
การเลือกตั้งและขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีด้วยเสียงจากประชาชน 67% คนยากคนจนแฮ่กันไปเลือกเขาเพราะเขาเสนอ
นโยบายปฏิรูปสังคมที่จะกระจายรายได้และสร้างความเป็นธรรม และแน่นอนพวกอำมาตย์เกลียดชังและโกรธแค้นใน
ชัยชนะของ Aristide และทำทุกอย่างเพื่อขัดขวางการทำงานของรัฐบาล ในที่สุดเพียงหนึ่งปีหลังจากการเลือกตั้ง
Aristide ถูกรัฐประหารทหารโค่นล้มไป
พวกอำมาตย์ที่ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้รับการสนับสนุนแบบลับๆจากสหรัฐอเมริกา
ในปี 1994 กองทัพได้บุกเข้าไปสังหารคนจนในสลัม
และในที่สุดปัญหาความไม่สงบนี้กลายเป็นข้ออ้างของรัฐบาลสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดี Bill Clinton ที่จะส่งทหารบุก
เฮติเป็นครั้งที่สอง ในช่วงนี้อดีตประธานาธิบดี Aristad ที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ถูกสหรัฐกดดันให้ยอมรับข้อตกลงพิษ
สหรัฐสัญญาว่าจะให้กลับมาดำรงตำแหน่งได้ แต่เงื่อนไขคือ จะต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมตามคำสั่งของ
ธนาคารโลก และ ไอเอ็มเอฟ นโยบายดังกล่าวระบุว่า ต้องตัดงบประมาณรัฐที่ลดราคาสินค้าจำเป็นให้คนจน ต้องมีการ
ตัดสวัสดิการทุกอย่างและขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน ประชาชนที่ยากจนอยู่แล้วจึงยิ่งยากลำบากมากขึ้น
อดีตประธานาธิบดี Clinton ที่บังคับใช้นโยบายนี้ และผู้ส่งทหารเข้าไปยึดครองเฮติ เป็นผู้ที่ถูกเสนอมาในยุคนี้ว่าจะ
ประสานการแก้ปัญหาจากแผ่นดินไหว
สหรัฐอนุญาตให้ Aristide ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแค่หนึ่งปี และห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งหลังจากนั้น ต้องรออีกห้าปี
พร้อมกันนั้นนโยบายเสรีนิยมที่ถูกนำมาใช้ได้ทำลายขบวนการ Lavalas จนเสื่อมไปจากเดิม
คนจนส่วนใหญ่เริ่มหมดกำลังใจ แต่อย่างไรก็ตามในปี 2000 Aristide ลงสมัครและชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง
หลังชัยชนะครั้งที่สองของ Aristide พวกอภิสิทธิ์ชนหรืออำมาตย์ก็เปิดศึกจับอาวุธเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ฝ่ายอำมาตย์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐและฝรั่งเศส และที่น่าสลดใจคือได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มที่เรียก
ตัวเองว่า “ประชาสังคม” และองค์กรเอ็นจีโอสากลอีกด้วย
กลุ่มที่อ้างว่าเป็น “ประชาสังคม” แท้ที่จริงเป็นกลุ่มของนักธุรกิจและนายทุนที่คัดค้านการกระจายรายได้และการปฏิรูปสังคม
ส่วนเอ็นจีโอสากลมีบทบาทในการให้บริการกับประชาชนแทนรัฐบาลที่ไม่มีเงิน เงินทุนของเอ็นจีโอเหล่านี้ได้มาจาก
รัฐบาลสหรัฐและคานาดา และวิถีชีวิตของนักเอ็นจีโอไม่ต่างจากวิถีชีวิตของคนชั้นสูงในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน
ในที่สุดมีการทำรัฐประหารครั้งที่สองเพื่อล้ม Aristide ในปี 2004 (สองปีก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยาในไทย) และพวก
ประชาสังคมและเอ็นจีโอก็สนับสนุนรัฐประหาร (ไม่ต่างจากไทย) อย่างไรก็ตามมีนักเอ็นจีโอรากหญ้าในองค์กรเล็กๆ
บางแห่งที่ใกล้ชิดประชาชนซึ่งเข้าข้าง Lavalas และประชาธิปไตย
Aristide ถูกขนออกนอกประเทศอีกครั้งในเครื่องบินของสหรัฐ
และรัฐบาลสหรัฐภายใต้ George Bush ก็สั่งให้ทหารยึดครองเฮติเป็นครั้งที่สาม หลังจากนั้นสหรัฐโอนอำนาจทางทหาร
ให้สหประชาชาติ และกองกำลังสหประชาชาติก็ถูกใช้ในการปราบปราบขบวนการ Lavalas
เราไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมประชาชนเกาะเฮติถึงยากลำบากแบบนี้
และเรื่องราวของเฮติมีบทเรียนหลายอย่างเกี่ยวกับ จักรวรรดินิยม นโยบายเสรีนิยม บทบาทสหประชาชาติ และท่าทีของ
เอ็นจีโอกระแสหลักต่อประชาธิปไตย
โชคดีจังเลยที่ประเทศไทยไม่ได้เหมือนเฮติ เพราะเรามีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ซึ่งปกป้องโดยทหาร พันธมิตรและพรรคประชาธิปัตย์ !!
แหล่งข้อมูลและอ่านเพิ่ม: Peter Hallward (2007) Damming the Flood. Haiti,
Aristide, and the Politics of Containment. Verso, London, New York.