บทความ "ดูไบ" จาก คอลัมน์ “ผมเป็นข้าราษฎร”
หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์วิวาทะ Thai Red News ปีที่ 1 ฉบับที่ 32
article : จักรภพ เพ็ญแข
หลังจากนั่งเครื่องบินออกจากนครหลวงพนมเปญแห่งกัมพูชา
พร้อมกับ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ผมก็ไปพักอยู่กับท่านหลายวันที่ดูไบ
และรีบกลับมาก่อนเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ เพราะอยากให้ท่านพักผ่อนอย่างสงบกับครอบครัวโดยไม่มีใครรบกวน
สองท่านที่ไปพร้อมกันคืออดีตประธานรัฐสภา คุณยงยุทธ ติยะไพรัช
และอีกคนที่มีบทบาทสำคัญในภารกิจของเรา แต่ไม่จำเป็นจะต้องขานชื่อกันในขณะนี้
เรื่องที่ไปฟังและไปบอกท่านมีไม่มาก
วิธีการก็ไม่ได้ประชุมกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ดูตาและดูใจกันเสียมากกว่า
แล้วก็ได้ความสงบทางใจ
ไม่มีอะไรทำลายยุทธศาสตร์ได้เท่ากับความคลางแคลงใจ อย่างที่พุทธธรรมเรียกว่า วิจิกิจฉา เมื่อทำให้ข้อนั้นหมด
หรือลดลงไปได้ ก็เท่ากับได้ยุทธศาสตร์ทั้งหมดคืนมา
ผมไปหาแม่ทัพขบวนการ ประชาธิปไตยถึงกลางทะเลทราย แต่พบว่าบรรยากาศทางใจเหมือนอยู่ในโอเอซิส
เพราะในที่สุดแล้วชิ้นต่างๆ ของฝ่ายประชาธิปไตยที่เหลื่อมกันไปบ้าง เกยกันอยู่บ้างแต่เดิม บัดนี้กลับเข้าที่หมด
กงล้อแห่งประวัติศาสตร์ที่เคยเคลื่อนอย่างฝืดๆ น่าจะคล่องตัวขึ้นบ้าง อย่างน้อยก็ในส่วนที่พวกเราเกี่ยวข้องอยู่
มิจฉาทิฐิที่เคยมี เช่นว่าประเทศชาติอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีพระประธาน
หรือพระประธานไม่พูดสั่งสอนเสียงดังๆ ได้เหมือนในนวนิยายเรื่อง “ไผ่แดง” (ซึ่งดัดแปลงมาจากนวนิยายอิตาลี
โดยฝีมือของหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของอำมาตย์ไทยยุคนั้นคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) ก็จะพากันฉิบหายหมด
หรือเชื่อว่าเขาเป็นคน ดีมีศีลธรรม เพราะเกิดมาเป็นตัวก็มีแต่คนพร่ำใส่หูว่าดีอย่างประเสริฐ เขาก็ย่อมจะเห็นอกเห็นใจ
และเข้าใจเพื่อนร่วมชาติ และอยากเห็นบ้านเมืองสงบระงับจากวิกฤติในที่สุด -- ไปคราวนี้ได้เห็นว่ามิจฉาทิฐิหรือความ
ยึดที่ผิดๆ อย่างนี้สลายลงไปมาก
ผมรู้สึกขอบคุณนักฆ่าผู้สูงศักดิ์ ที่สั่งฆ่าและทำลายล้างนายกรัฐมนตรี และขบวนการประชาธิปไตยอย่างเลือดเย็นและ
ต่อเนื่อง จนปลุกคนส่วนใหญ่ให้ตื่นจากความหลับใหลยาวนานหลายสิบปีได้ - เคยอ่าน จากที่ไหนก็จำไม่ได้เสียแล้วว่า
ผืนทะเลทรายมีอานุภาพอันน่าทึ่ง เม็ดทรายน้อยๆ ที่รวมตัวเป็นลมปนทรายและปลิวกระจายไปทั่วตะวันออกกลาง หรือ
ในทะเลทรายโกบี หรือซาฮาร่า สามารถเปลี่ยนสภาพทุกสิ่งทุกอย่างได้หากปลิวปะทะนานพอ
ในเมืองไทยเอง ลมทะเลทรายก็คงพัดมาถึง เพราะรูปทองบางอย่างค่อยๆ กร่อนลงเรื่อยทุกวันในอัตราเร่ง
จนเห็นรูปลักษณ์ที่ไม่ใช่ผู้มีธรรมแต่เป็นฆาตกรต่อเนื่อง (serial killer) อยู่ภายใน
หัวใจบริสุทธิ์ที่ถูกความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกาะกุมอยู่ ในที่สุดก็ได้รับอิสรภาพด้วยวิถีนี้
ดูไบ เป็นหนึ่งในเจ็ดนครรัฐที่รวมเข้าด้วยกันเป็นประเทศเดียว ในรูปแบบสหพันธรัฐ
และเรียกตัวเองว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี แต่ละรัฐมีเจ้าครองแคว้นของตนเอง
รัฐใหญ่ที่สุดคือ อาบูดาบี กลายเป็นเมืองหลวง เจ้าผู้ครองแคว้นอาบูดาบีรั้งตำแหน่งกษัตริย์
หรือสมเด็จพระราชาธิบดีตลอดกาล รัฐที่ลดหลั่นลงมาเป็นอันดับสองคือ ดูไบ เจ้าผู้ครองแคว้นก็ได้รั้งตำแหน่ง
นายกรัฐมนตรีตลอดกาลเช่นกัน ส่วนอีก 5 นครรัฐที่เหลือคืออัจมัน, ฟูจาร์ราห์, อุมอัล-กูเวน, รัสอัล-ไคมาห์ และซาร์จาห์
ก็พอใจในสมการทางการเมืองแบบนี้
เจ้ายูเออีเขาคงไม่มีความอิจฉาริษยาเป็นเจ้าเรือน ถึงถือแคว้นถือตระกูลกันมาอย่างไรก็ยังอยู่ในโลกแห่งความจริง ถึงขั้น
วางโครงสร้างการเมืองที่ทำให้คงสภาพร่วมกันได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวเองจนน้ำหนักของมงกุฎทับจนบี้แบน
น่าสังเกตว่า นายกทักษิณมีเพื่อนฝูงเป็นกษัตริย์หรือผู้ครองแคว้นทั่วโลก นอกจากบรรดาเจ้าในตะวันออกกลางหลายประเทศ
ก็ยังมีบรูไนดารุสซาลามในอาเซียน สวาซิแลนด์ในแอฟริกา ตองก้าในแปซิฟิคใต้ และพระราชวงศ์อื่นๆ อีกมากมายหลาย
ภูมิภาค กษัตริย์เหล่านี้ล้วนเป็นประมุขแห่งรัฐที่ ทันสมัยและก้าวหน้า ยอมรับวิถีประชาธิปไตยโดยดุษฎี โดยไม่โดดเข้า
ขวางโอกาสที่ประชาชนของตนจะกลายเป็นมนุษย์อันสมบูรณ์ ส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศเหล่านี้ ยืนยงสถาพร
และไม่แสลงต่อโลก ที่ประชาชนรากหญ้าเป็นใหญ่
เขาละโมหะจริตในความเป็นเทพลงเสียบ้าง และสร้างเป้าหมายใหม่ให้กับบ้านเมืองอย่างในกรณีของนครรัฐดูไบ
นั่นคือความเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก (economic hub) จนกลายเป็นจุดสนใจของโลก ทั้งเจ้าทั้งไพร่ต่างได้
รับประโยชน์ ความเป็นเจ้าของเจ็ดผู้ครองแคว้นในยูเออี จึงคงเจิดจรัสท่ามกลางเศรษฐกิจที่พัฒนาไป
ทุนนิยมก้าวหน้าไม่ได้ขัดแย้งใดๆเลยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หากมองด้วยทัศนะใหม่และไม่คับแคบ
ผมคิดว่าใครที่ไปอยู่ดูไบอย่างนายกทักษิณ คงจะได้สังเกตเรื่องนี้กันทุกคน
ช่วงเวลาอันยาวนานที่จำต้องพำนักอยู่ที่นั่น
ในที่สุดก็กลายเป็นช่วงเวลาอันมีประโยชน์ต่อนายกทักษิณ อย่างที่อำมาตย์ไทยนึกไม่ถึง
นอกจากได้ทบทวนถึงความใจดำและความเห็นแก่ตัวซ้ำซากแล้ว ยังเป็นเวลาของบทเรียนใหม่ในระดับโลกว่า
สถาบันโบราณ กับ โลกยุคใหม่ อยู่ร่วมกันอย่างผาสุกได้อย่างไร
บางคนกระซิบผมว่า ความสมานฉันท์แบบนี้น่าจะเกิดในเมืองไทยได้ง่ายกว่า เพราะผู้ปกครองมีธรรมะ
ธรรมะ ?
เมื่อ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร สกลนคร ยังไม่มรณภาพ
บุคคลสำคัญขนาดหนักของเมืองไทยได้ไปกราบเยี่ยมและสนทนาธรรมกับท่านครั้งหนึ่ง
บุคคลผู้นี้ถามพระอาจารย์ว่า ทำอย่างไรจะให้คนส่วนมากเข้าวัด อาจารย์ฝั้นตอบสวนทันทีว่า “ตัวท่านก็เข้าวัดเสียก่อนสิ!”
เป็นที่ลือลั่นกันว่า ความลึกซึ้งในธรรมตามภาพที่สร้างกันมาเนิ่นนานนั้นอาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป
เจ้ายูเออี และสุลต่านบรูไนฯเป็นมุสลิม คงจะไม่ได้ยึดพุทธธรรมเป็นหลักแน่
เช่นเดียวกับสมเด็จพระราชินีอังกฤษ ผู้เป็นคริสต์แองกลิกัน และสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นที่ถือชินโต
น่าแปลกใจที่หลายพระองค์เหล่านี้
กลับถือวิถีพุทธโดยไม่ต้องแสดงองค์เป็นพุทธมามกะ จนบ้านเมืองของเขาร่มเย็นเป็นสุข
ผมเริ่มสงสัยว่า พุทธมามกะบางคนที่ออกนอกลู่ทางจนเกือบกู่ไม่กลับแล้วนั้น
เป็นเพราะลุ่มหลงในเรื่องคุณไสยและเดรัจฉานวิชา หรือไม่ก็หลงใหลในตนเอง
อย่างที่เรียกว่า ติดดี จนลืมพุทธธรรมไปแล้วหรือไม่ ?