Saturday, August 1, 2009
สถานการณ์นักโทษการเมืองในประเทศไทย
January, 2009 : The Situation of Political Prisoners in Thailand
is getting Worse by minutes ; Anyone can be in jail for NOTHING
รายงาน: ชะตากรรม 2 นักโทษหญิงคดีหมิ่นฯ
โดย : ประชาไท วันที่ : 9/1/2552
ปี 2552 หลายคนอาจโล่งอกโล่งใจที่การเมืองไทยดูเหมือนจะคลี่คลาย
ไปอีกเปลาะใหญ่ๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุปัจจัยอันใดก็ตาม แต่ประเด็นหนึ่ง
ที่ยังคงเป็นเรื่องลำดับต้นซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศให้ความ
สำคัญ คงไม่พ้นการปราบปรามการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ปีก่อนหน้า ประเด็นนี้เป็นศาตราวุธสำคัญในการฟาดฟันคู่ขัดแย้งทางการเมือง
มีหลายคนโดนแจ้งข้อหานี้ บ้างได้ประกันตัว อย่างกรณี สนธิ ลิ้มทองกุล,
สุลักษณ์ ศิวรักษ์, วีระ มุสิกพงษ์, จักรภพ เพ็ญแข ฯ บ้างหลบหนีการแจ้งข้อกล่าวหา
อย่างกรณีชูชีพ ชีวสุทธิ์, สุชาติ นาคบางไทร บ้างถูกโยงให้พัวพันกับคดีนี้ไปอย่าง
พันลึก อย่างกรณีจิตรา คชเดช,โชติศักดิ์ อ่อนสูง (2549) บ้างสร้างความท้าทาย
แปลกใหม่ให้สังคมไทย อย่างกรณี โจนาธาน เฮด บ้างถูกบุกจับอย่างเงียบเชียบ
อย่างกรณี พระยาพิชัย, ท่อนจัน สองนักท่องเว็บชื่อดัง
และบ้างก็ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำเรียบร้อยแล้ว อย่างกรณี ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล
หรือที่คนรู้จักเธอในนาม “ดา ตอร์ปิโด” และ บุญยืน ประเสริฐยิ่ง ดาวไฮปาร์ก
ของแฟนพันธุ์แท้สนามหลวงที่ไม่สู้มีใครรู้จัก
หากรวมกับ Harry Nicolaides ก็นับเป็นผู้ต้องหาตัวเล็กๆ 3 รายที่ต้องนอนห้องขัง
มานานหลายเดือนในระหว่างประสานงานต่อสู้คดี โดยที่สังคมไม่มีโอกาสติดตาม
ข่าวคราว ตรวจสอบเรื่องราวของพวกเขานัก หรืออีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีสื่อใดสนใจ
ติดตามข่าวของพวกเขา ผู้ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิประกันตัวออกมาสู้คดีได้เช่นคนอื่นๆ
ผู้ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ถูกสังคมพิพากษาแล้วก่อนจะมีคำพิพากษา กระทั่ง บางทีมัน
อาจถูกนับรวมอยู่ในความโล่งอกโล่งใจของใครหลายคนด้วย
(อ่านกรณีของ Harry Nicolaides ได้ที่นี่)
Aust man refused bail for insulting Thai King (ABC NEWS)
More Related Incidents from TIMES on Line
‘ดา ตอร์ปิโด’ : ชีวิตที่ไม่อาจล่วงรู้ชะตากรรม
กรณีของดารณีนั้นเป็นที่ฮือฮาในช่วงแรก เพราะสนธิ ลิ้มทองกุล ได้นำถ้อยความ
ที่เธอพูดบนเวทีเสียงประชาชน(เวทีขนาดเล็กที่สนามหลวง ไม่แน่ชัดว่าเป็นของ
เครือข่ายไหน แต่มีลักษณะเป็นเวทีรวมของ “ม็อบธรรมชาติ” ซึ่งผู้อภิปรายอาจเป็น
คนที่มาร่วมชุมนุม ประชาชนทั่วไป) ไปขยายต่อในเวทีพันธมิตรฯ จนปลุกระแส
ได้สำเร็จ และถูกข้อหาหมิ่นฯ เช่นเดียวกัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวไปในที่สุด
ดารณี ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมที่บ้านในคืนวันที่ 22 ก.ค.51 หลังจากนั้นถูกคุมตัวที่เรือนจำ
ทัณฑสถานหญิงกลาง ท่ามกลางความพยายามยื่นขอประกันตัวโดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
นักประวัติศาสตร์จากรั้วจามจุรี ซึ่งเป็นนักวิชาการน้อยคนนักที่กล้าประกาศ
จุดยืนกับกลุ่ม นปช. ว่าด้วยหลักการประชาธิปไตย ต้านรัฐประหาร โดยไม่แทงกั๊ก
หรือหวาดกลัวกับ “ระบอบทักษิณ” เช่นนักวิชาการอื่น เขายื่นประกันตัวเธอโดยใช้
ตำแหน่งข้าราชการ 3-4 ครั้ง แต่ศาลปฏิเสธ
ดารณีให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ตำรวจใช้สิทธิฝากขัง 84 วันเต็มจำนวน ก่อนจะยื่น
เรื่องต่ออัยการ และต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา7เป็น
โจทย์ฟ้องเธอต่อศาล ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย
พระมหากษัตริย์ ราชินี ซึ่งปัจจุบันมีโทษจำคุก 3 ปี ถึง 15 ปี และพรรคประชาธิปัตย์
กำลังผลักดันแก้กฎหมายเพิ่มโทษมาตรานี้เป็นจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 25 ปี และปรับ
ตั้งแต่ห้าแสนถึงหนึ่งล้านบาท
ทนายคนล่าสุดที่รับว่าความให้คือ ประเวศ ประภานุกูล
ดารณี เป็นดาวไฮปาร์กคนหนึ่งของฝ่ายต้านรัฐประหาร-อำมาตยาธิปไตย ซึ่งอาจ
กินความได้กว้างขวางกว่ากลุ่ม นปช. กระนั้น ใครหลายคนที่เคยขึ้นเวที นปช.เองก็
เคยออกปากทำนองว่า เธอเป็นตัวของตัวเองสูงและไม่ค่อยฟังใคร พี่ชายของเธอเล่าว่า
เธอเรียนจบปริญญาโทแต่จำไม่ได้ว่าที่มหาวิทยาลัยไหน และเคยเป็นนักข่าวอยู่ระยะ
หนึ่ง โดยปกติเธอเป็นหนอนหนังสือตัวยง และเป็นคนอารมณ์ร้อนมาตั้งแต่ไหนแต่ไร
ระหว่างถูกคุมขัง ก็มีเพียงพี่ชายสูงวัยของเธอเท่านั้นที่นั่งรถมาจากภูเก็ตเพื่อมาเยี่ยม
ซื้ออาหาร ของใช้ ส่งให้เป็นประจำทุกสัปดาห์ และเป็นผู้ที่คอยติดต่อประสานงาน
เกี่ยวกับเรื่องคดีความ เขามักจับรถเที่ยวเย็นเข้ากรุงเทพฯ ถึงที่หมายตอนเช้ามืด แล้ว
เตร็ดเตร่อยู่ขนส่งจนใกล้เวลาเปิดทำการของเรือนจำ จึงเดินทางเข้าเยี่ยม เป็นเช่นนี้ประจำ
6 เดือนในเรือนจำกับสภาพร่างกายไม่สู้ปกติ คือ กรามค้าง อักเสบ อ้าปากกว้างไม่ได้
ซึ่งเป็นโรคที่เป็นมาก่อนเข้าเรือนจำและกำลังนัดหมายกับแพทย์เพื่อทำการผ่าตัด
ทำให้น้ำหนักตัวเธอลดลงไป 18 กิโลกรัม แม้ในเรือนจำจะมีแพทย์คอยดูแลอาการป่วย
ไข้แต่ก็ได้รับเพียงยาบรรเทาอาการปวดเท่านั้น
ในช่วงต้น มีผู้คนมากหน้าหลายตาไปเยี่ยมดา ทั้งบรรดาลุงป้าจากขบวนการเสื้อแดง
สนามหลวง ไปจนถึงนักศึกษาหนุ่มสาวจากรั้วมหาวิทยาลัย
จากการพบปะพูดคุยหลายครั้ง ในชั่วเวลา 15 นาทีที่ทางเรือนจำเปิดให้เยี่ยม ในช่วงต้นๆ
ดารณีกล่าวตัดพ้อท้อแท้ต่อการต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะการแสดงความผิดหวังต่อ
นักการเมือง “ฝั่งประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์จากการต่อสู้เพื่อ
ประชาธิปไตยของเธอและมวลชนจำนวนมาก แต่แล้วกลับไม่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือใดๆ
เธอกล่าวตัดพ้อต่อสังคมไทยที่ลืมง่าย และประนีประนอมกับอำนาจทุกรูปแบบ เรื่อยไป
จนถึงการพูดถึง “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งเธอมองว่าเป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่มีดี มีชั่ว แต่
อย่างน้อยก็ยังหยิบยื่นให้กับคนยากคนจนมากกว่าคนอื่น โดยที่เธอเห็นว่าปัญหาความ
ยากจน ความไม่เท่าเทียมของคนชนบทนั้นเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นของประเทศไทย
หรือแม้กระทั่ง การพูดถึงการปฏิรูประบบเรือนจำ ซึ่งเต็มไปด้วยหญิงสาววัยรุ่นจาก
คดียาเสพติดเล็กๆ น้อยๆ เธอมองว่าการเอามาขังรวมกันไว้เฉยๆ เป็นการสูญเสียทรัพยากร
บุคคลโดยใช่เหตุ หรือการที่เรือนจำไม่มีหนังสือน่าสนใจให้อ่านเอาเสียเลยนอกไป
จากหนังสือธรรมะ หรือกฎเกณฑ์ไม่สมเหตุสมผล อย่างการบังคับให้ผู้ต้องขังอาบน้ำ
ได้เพียง 10 ขัน และลดเหลือ 5 ขันในหน้าหนาว รวมถึงความเป็นอยู่ที่แออัด นอนรวม
กัน 40-80 คนในห้องเล็กๆ
และในบางครั้ง เธอก็มีคำปลอบประโลมใจตนเองหลุดออกมา เช่น พูดถึงการต่อสู้
เพื่อประชาธิปไตยและชะตากรรมที่เลวร้ายกว่าของผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์
เธอเอ่ยถึงเขาให้ได้ยินหลายครั้งในฐานะบุคคลที่เธอเคารพ
จนถึงปัจจุบัน ดารณีที่ผ่ายผอม ไหล่ห่อ หลังงอ ไม่คาดหวังอะไรมากมายไปกว่าการ
ออกจากเรือนจำไปต่อสู้คดี และใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
ในชั้นสอบสวน ทนายความพยายามยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว แต่ทั้งศาลชั้นต้นและ
ศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ด้วยเหตุที่เป็นความผิดมีอัตราโทษสูง
ถ้อยคำที่ถูกกล่าวหานำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูน
สักการะ กระทบกระเทือนจิตใจผู้จงรักภักดี เป็นเรื่องร้ายแรงและเกรงว่าผู้ต้องหาจะ
ไปกระทำผิดซ้ำอีก
ในชั้นพิจารณาคดี ศาลชั้นต้นได้ยกคำร้องขอปล่อยคราวเช่นกัน และทนายได้โต้แย้ง
ต่อศาลอุทธรณ์ว่า การสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวตาม ม.108/1 นั้นต้องเข้าข่าย ผู้ต้องหา/จำเลย
จะหลบหนี,จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน, จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น, ผู้ร้อง
ขอประกันไม่น่าเชื่อถือ, จะไปก่อความเสียหายต่อการสอบสวนหรือดำเนินคดี ซึ่งคดีนี้
ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะไปยุ่งกับพยานหลักฐานเพราะพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการ
เรียบร้อยแล้ว ส่วนการหลบหนีนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานโดยไม่ปรากฏเหตุอันควรเชื่อ
ว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นเรื่องร้ายแรงนั้นเป็นการวินิจฉัย
ข้อเท็จจริงนอกสำนวน และขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 39วรรค 2 และ 3 เพราะคดี
นี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่แน่ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องถือว่า
จำเลยบริสุทธิ์
เอกสารคำร้องขอปล่อยชั่วคราวยังระบุอีกว่า การไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวจะทำให้
เป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้คดีของจำเลย การรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ ทำได้ยากลำบาก
อาจทำให้เสียความยุติธรรมได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับโทษคดีข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ
ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต ศาลก็ยังเคยปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว หรือแม้แต่คดีของบุคคลมี
ชื่อเสียงอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ศาลก็เคยให้ปล่อยชั่วคราว
โดยสั่งอนุญาตตั้งแต่ยังอยู่ในห้องพิจารณาคดี นอกจากนี้ในชั้นฝากขังพนักงานสอบสวน
คัดค้านการปล่อยชั่วคราว ขณะที่ในชั้นพิจารณาคดีของศาลที่กำลังดำเนินอยู่นี้ พนักงาน
อัยการโจทก์ไม่ได้คัดค้านการขอปล่อยชั่วคราว จึงร้องขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งปล่อย
ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ราวกลางเดือนธันวาคม ศาลอุทธรณ์ได้ยืนยันเหตุผลเดิมของ
ศาลชั้นต้น พิจารณายกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
นอกจากคดีหมิ่นฯ แล้ว เธอยังโดนคดีจากกรณีที่นำมวลชนสนามหลวงจำนวนหนึ่ง
ไปปิดล้อม บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด ถนนพระอาทิตย์ พร้อมกล่าวโจมตี
สนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.51 อีกหลายข้อหา ทั้งสองคดีนี้จะมีการสืบพยานโจทก์
และจำเลยในราวเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้
น่าสังเกตว่า ในวันขึ้นศาลเพื่อนัดหมายสืบพยาน ตรวจสอบหลักฐานนั้น
เธอถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำ และปรากฏตัวในชุดนักโทษที่แปลกไป จากเดิมที่เป็น
ชุดสีน้ำตาลล้วน มาเป็นเสื้อสีน้ำตาล มีแถบสีแดงสดที่ปลายแขน ซึ่งมันเป็นเสื้อของ
ผู้ต้องขังคดีอุกฉกรรจ์ เช่น ค้ายาบ้าเกินหนึ่งหมื่นเม็ดขึ้นไป
บุญยืน: นักโทษที่ไม่มีใครรู้จัก
กรณีของบุญยืนต่างออกไปโดยสิ้นเชิง
บุญยืน ประเสริฐยิ่ง เป็นหญิงวัยกลางคน เธอเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว
ประกอบอาชีพรับซื้อของเก่าอยู่แถวชานเมือง มีคนบอกว่าเธอยังเป็นหมอดูด้วย
และมาเคลื่อนไหวร่วมชุมนุมที่สนามหลวงตั้งแต่หลังรัฐประหารโดยไม่ให้ที่บ้านรู้
เธอเรียนไม่สูงนัก บุคลิกแบบหญิงชาวบ้านขาลุย แต่ก็ประกาศตัวชัดว่าเป็นคนรัก
ประชาธิปไตย ไม่มีใครรู้ประวัติที่มาที่ไปของเธอมากนัก แต่หลายคนที่ชุมนุมแถว
สนามหลวงเป็นประจำ ไม่ว่าเวทีเล็ก เวทีใหญ่ เวทียิบเวทีย่อย แบบรวมตัวกันเองสะเปะ
สะปะไม่ต้องมีแกนนำ น่าจะรู้จักเธอดีในฐานะมือไฮปาร์กที่ดุดัน แอคชั่นเดือดเด็ด
บุญยืนเข้ามอบตัวทันทีต่อเจ้าหน้าที่ในวันที่ 15 ส.ค.51 หลังจากทราบว่าโดนข้อหา
นี้เพราะเกรงจะเป็นข่าวโด่งดัง เสียชื่อวงศ์ตระกูล หลังจากนั้นก็ถูกนำตัวไปไว้ใน
เรือนจำแดนเดียวกับดารณี แต่ทั้งสองถูกสั่งห้ามไม่ให้พูดคุยกัน
ด้วยความหวาดกลัว เธอตัดสินใจรับสารภาพตามคำแนะนำของผู้หวังดี
ซึ่งรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ในเรือนจำด้วย โดยไม่ตั้งทนายต่อสู้คดี แม้ว่าจะยังรู้สึกตะขิด
ตะขวงกับสำนวนบางส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ก็ตาม
วันที่ 6 พ.ย.51ศาลพิพากษาจำคุกเธอ 12 ปี ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชทายาท และ
ลดโทษให้กึ่งหนึ่งจากการสารภาพ เหลือโทษจำคุก 6 ปี
บุญยืนเล่าเรื่องราวทั้งน้ำตานองหน้า แต่ยังคงมั่นใจกับการตัดสินใจยอมรับ
สารภาพดังกล่าว และคิดว่าการยืนยันต่อสู้อย่างที่ดากำลังทำนั้น รังแต่จะทำให้โทษ
ยิ่งรุนแรงขึ้น และเป็นที่น่าหมั่นไส้ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทั้งหลาย
และเนื่องจากเธอเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของบ้าน การอยู่ในเรือนจำนานหลายเดือน
ทำให้บ้านและรถถูกยึดไปหมดแล้ว เพราะไม่ได้ส่งดอกเบี้ยที่ได้ทำธุรกรรมขายฝากไว้
จนไม่รู้ว่าลูกชายคนเล็กที่กำลังเรียนหนังสือจะไปอยู่ที่ไหนได้
อาจจะด้วยความอัดอั้นตันใจ ความเกรงกลัว ต้องการคนช่วยเหลือ หรืออะไรก็ตาม
เธอรีบชี้แจงผ่านกระจกห้องเยี่ยมทั้งที่ยังไม่ทันได้ไถ่ถามว่า เธอไม่ได้กล่าวคำอาฆาต
มาดร้ายต่อรัชทายาทแต่อย่างใด หากแต่ปราศรัยตอนหนึ่งถึงความไม่ได้จงรักภักดี
อย่างแท้จริงของ พล.อ. คนหนึ่งใน คมช. เท่านั้น
คดีนี้สิ้นสุดไปแล้วโดยที่แทบไม่มีใครล่วงรู้
และศาลไม่อนุญาตให้คัดสำเนาคำพิพากษาสำหรับผู้ไม่เกี่ยวข้องกับคดี
ขณะนี้เธออยู่ระหว่างทำเรื่องขอลดหย่อนโทษต่อศาลตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
เพื่อให้ลดโทษเหลือ 3 ปี หรือรอลงอาญา ประกอบกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
เธอคาดเดาเอาเองว่าจะทราบผลในอีก 5-6 เดือนข้างหน้า
สองชีวิตกับข้อกล่าวหาที่หนักหน่วง
ซ่อนตัวอย่างเงียบเชียบอยู่ในหลืบเร้นของสังคมนี้
ว่ากันถึงที่สุดแล้ว เราจะล่วงรู้ความจริงในใจผู้คนได้อย่างไรว่า ระหว่างนักการเมือง
นักเคลื่อนไหว หรือกระทั่งฝ่ายซ้ายเก่าที่พร่ำพูดว่าตนจงรักภักดี กับประชาชนตัวเล็กๆ
ที่พูดจาตรงไปตรงมา ... ใครจริงใจ ใครจงรักภักดี หรือใครเป็นภัยมากกว่ากัน
ท่ามกลางความเงียบงันของคดีที่ใครๆ ไม่อยากพูดถึง ข้องแวะ บางคนอาจกำลัง
พยายามหาคำตอบให้กับตัวเองอยู่ว่า ควรจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในโลกใบเล็กอันลักลั่นนี้
โลกที่มักป่าวประกาศถึง “ประชาธิปไตย” “เสรีภาพ” “ความเท่าเทียม” “สิทธิมนุษยชน”
ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ปฏิบัติราวกับไม่รู้จักถ้อยคำเหล่านั้นเลย...โดยเฉพาะกับคนตัวเล็กๆ