Thursday, January 28, 2010

เงื่อนไขและเวลาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น

from คอลัมน์ "ผมเป็นข้าราษฎร" นสพ.วิวาทะ ไทยเรดนิวส์ ฉบับที่ 35
28 มกราคม 2553 / January 28. 2010
บทความ : เงื่อนไขและเวลาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น
article / บทความโดย : จักรภพ เพ็ญแข

แล้ววลี “กงล้อแห่งประวัติศาสตร์”
ก็มีน้ำหนักขึ้นในทันทีที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย
ประกาศคำว่า “รัฐบาลพลัดถิ่น” ออกมาอย่างเต็มภาคภูมิ ระหว่างการปราศรัยผ่านดาวเทียมกับมวลมหาประชาชน
ที่กำลังชุมนุมทวงแผ่นดินคืนจากอำมาตย์ ณ เขาสอยดาว จันทบุรี เมื่อวันเสาร์ที่ 23 มกราคม 2553

ผมทราบว่าหลายท่านน้ำตาไหล และหลายท่านหายใจอย่างโล่งอกว่า
นี่แหละเกียรติภูมิที่ควรเป็นของขบวนการประชาธิปไตย
ตัวผมนั่งอยู่อีกมุมโลกหนึ่ง รู้สึกประหนึ่งว่าเราชนะแล้วด้วยซ้ำไป

รัฐบาลพลัดถิ่นคืออะไร ทำไมสำคัญถึงขนาดนี้
เราจะจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นได้จริงหรือ ทั่วโลกเขาจะเอากับเราหรือ ?


ผมได้ยินคำถามดังออกมาจากหัวใจของพวกเราที่ร่วมต่อสู้
และปรารถนาจะเห็นชัยชนะอย่างไม่มีเงื่อนไขของฝ่ายประชาชน วันนี้ต้องตอบคำถามเหล่านั้นให้ชัดเจน
หรืออย่างน้อยต้องลดความสงสัยลงบ้าง

รัฐบาล พลัดถิ่น หรือ government-in-exile เป็นวิถีทางต่อสู้อย่างหนึ่งของขบวนการการเมืองในแต่ละประเทศ
เมื่อการต่อสู้ในประเทศตนไม่อาจเป็นไปได้แล้ว โลกหรือประชาคมระหว่างประเทศ โดยองค์การสหประชาชาติ
คือผู้ประกันสิทธิตามธรรมชาติในข้อนี้ของขบวนการการ เมืองใดๆที่ได้รับการสนับสนุนอย่างบริสุทธิ์ใจจาก
มวลชนจำนวนมากในประเทศนั้นๆ จึงเรียกได้ว่าเป็นกลไกการต่อสู้ที่โลกยอมรับ และถือเป็นการรณรงค์ทาง
การเมืองโดยสันติวิธีอย่างหนึ่ง

รัฐบาลพลัดถิ่นจึงไม่ใช่รัฐบาลเถื่อน

มิหนำซ้ำ หากรัฐบาลนั้นๆ ตั้งขึ้นบนความยอมรับนับถือของประชาคมระหว่างประเทศ และได้รับการสนับสนุน
อย่างเพียงพอในประเทศของตนแล้ว ยังเกิดผลอีกอย่างหนึ่งคือทำให้รัฐบาลที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นรัฐบาลฝ่ายตรงข้าม
ในขณะนั้น หมดสิ้นความชอบธรรมลงไปทันที มหาประชาชนจะฉุดกระชากลากลงมาจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และ
คณะรัฐมนตรีเสียเมื่อไหร่ก็ได้

ครับ ถ้า ดร.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นมาได้สำเร็จ
รัฐบาลอภิสิทธิ์ รัฐบาลสุรยุทธ์ รัฐบาลปีย์ รัฐบาลเปรม และรัฐบาลเขายายเที่ยงบวกกับตาเที่ยง หรือรัฐบาลเวรกรรม
ใดๆ ที่มาจากการปล้นอำนาจรัฐจากประชาชนด้วยกำลังกองทัพ ตุลาการวิบัติ หรือองค์กรอิสระ (แต่เป็นทาสอำมาตย์)
จะกลายสภาพเป็นรัฐบาลเถื่อนในทันที

การจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นจึงเป็นคำประกาศว่าใครคือรัฐบาลตัวจริง

รัฐบาลตัวจริงหมายถึงรัฐบาลที่มีความชอบธรรมอย่างแท้จริง และรัฐบาลมีฐานประชาชนหนุนอย่างเพียงพอ
ไม่ใช่รัฐบาลที่มีคนเรียกฝ่ายตุลาการออกมาวางแผนปล้นให้ ไม่ใช่รัฐบาลที่คอยแก้ไขปัญหาปากคอกอย่างเพลี้ย
สีน้ำตาล หรือทะเลกัดเซาะชายฝั่งที่ปักษ์ใต้ โดยไม่ได้แก้ไขปัญหาจากเหตุปัจจัยหลัก เพราะทำเพียงเพื่อจะหาทาง
ผันงบประมาณออกมาใช้กันให้อ้วนท้วนไปตามๆ กันเท่านั้น

ที่มาของรัฐบาลก็ต้องชอบธรรม การทำงานในขณะเป็นรัฐบาลหรือขณะที่ถืออำนาจรัฐอยู่ก็ต้องชอบธรรม
เรียกว่าชอบธรรมตั้งแต่หัวจรดเท้าและยาวนานตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง

รัฐบาล เฮียดึงหรือเจ๊ดันอย่างรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ และนายอภิสิทธิ์จึงขาดชอบธรรมอย่างเด็ดขาด
จะดูที่มาของรัฐบาลหรือวิธีการใช้อำนาจรัฐ ก็ขาดด้วนหมด ไม่ต่างอะไรจากคนเป็นสมีปาราชิก แต่ไปหลอก
สาธุชนว่าเป็นพระ ให้ศีลให้พรคนจนยุ่งไปหมด เผลอๆ ยังหน้าด้านไปทำหน้าที่อุปัชฌาย์ หรือเป็นพระพี่เลี้ยงนวกะ
สร้างพระใหม่อีก ต่างหาก

แล้วจะตั้งได้หรือ รัฐบาลพลัดถิ่นที่ว่านี้ ?

เจ้าของประเทศไทยคือประชาชนส่วนมากอาจจะยังไม่ทราบว่า
วันที่เราถูกปล้นอำนาจรัฐในวันอังคารที่ 19 กันยายน 2549 เราเกือบจะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นกันแล้ว
ในวันนั้นนายกรัฐมนตรีของเราก็อยู่ที่องค์การสหประชาชาติ พร้อมกับผู้นำทั่วโลกอีกมากมาย ต่างฝ่ายต่างมาร่วม
ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติประจำปีกันในโอกาสนั้นทั้งสิ้น

เลขาธิการสหประชาชาติในเวลานั้นคือนายโคฟี่ อันนัน ก็ย้ำคำเชิญให้นายกรัฐมนตรีทักษิณขึ้นกล่าวปราศรัยตาม
กำหนดการเดิม โดยไม่คำนึงถึงการรัฐประหาร เป็นการประกาศด้วยเสียงดังฟังชัดว่า องค์การสหประชาชาติยอมรับ
รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ไม่รับรัฐบาลที่ซากเดนศักดินาร่วมกันตั้งขึ้นในเมืองไทย

เราสามารถตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นได้อย่างง่ายดายราวดีดนิ้ว

เหตุที่ไม่ได้ตั้ง เพราะเจตนาในขณะนั้นคือความสมานฉันท์
ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในขณะที่ “สติ” ยังตามไม่ทัน “จิต” ไม่รู้ว่าเขาพูดคำว่าสมานฉันท์แบบย้ำๆ ยานๆ
เพื่อให้มีเวลาบรรจุกระสุนปืน หรือไม่ก็มีเวลาผสมยาพิษให้เต็มแก้ว


เรียนปริญญาตรีก็ใช้ เวลาในราว ๔ ปี ปีแรกอาจไร้เดียงสา ทำตัวเหมือนอยู่ชั้นมัธยม ปีสองและปีสามแก่กล้าขึ้นบ้าง
ทั้งในทางปัญญาและอารมณ์ จนถึงปีสี่ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายก่อนจบ ถึงขั้นจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นได้ก็ถือว่าประเสริฐ ไม่มี
อะไรสูญเปล่า

สามปีที่ผ่านมาคือช่วงเวลาบ่มเพาะ ทั้งความพร้อมเพรียง และความมั่นใจในตัวเองของขบวนการประชาธิปไตย
เรารักกัน เราทะเลาะกัน เราเห็นด้วย เราเห็นแย้ง เราขาดความเชื่อมั่น เราเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา ในที่สุดเราก็
เดินมาถึงยุทธศาสตร์เดียวกัน

ถึงวันนี้ใครที่ถือยุทธศาสตร์คนละเล่มก็ถือว่าอยู่กันคนละสนามแล้ว
ถ้าสามปียังคิดไม่ได้ ก็คงไม่ต้องคิด เป็นสิทธิ์ของทุกคนที่จะเป็นไพร่และเป็นทาสต่อไป
เหมือนนกติดยาในกรงเหล็กที่เขาขังไว้ขายคนชอบปล่อยนก
แต่เราจะไม่ยอมให้คนเหล่านั้นเข้ามาทำลายยุทธศาสตร์หลักของเราเป็นอันขาด


รัฐบาลพลัดถิ่นเป็นสิ่งที่ทำได้ และต้องทำเมื่อเกิดเงื่อนไขที่เหมาะสมในทางการเมือง

การยึดอำนาจรัฐประหารเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งเท่านั้น

ตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งแปลว่าสังคมขาดความยุติธรรมอย่างร้ายแรง
มนุษย์ทุกคนมิได้เสมอภาคกันตามกฎหมายอย่างที่เขาโฆษณาชวนเชื่อ ก็เป็นเหตุได้

การใช้ความรุนแรงกับมวลมหาประชาชนที่ใช้สิทธิ์ในการประท้วงอย่างสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ ก็เป็นเหตุได้

การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง อย่างคำกล่าวของผู้บริหารองค์การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
หรือ Human Rights Watch ที่ว่า “...ถึงบางครั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะกล่าวถึง
สิ่งที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่การกระทำของนายอภิสิทธิ์กลับกลายเป็นเรื่องตรงกันข้าม รัฐบาล
ชุดนี้ได้บั่นทอนการเคารพสิทธิมนุษยชนและนิติธรรมในประเทศไทยอย่างต่อ เนื่อง..”
หรือ
“...ประชาธิปไตยในประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการบังคับใช้
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ บรรยากาศแห่งความ
หวาดกลัวได้ปกคลุมสังคมอินเตอร์เน็ต เนื่องจากการที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์เพิ่มระดับการจำกัดเสรีภาพ
ในการแสดงความคิดเห็น...”


สภาพความพิการล่าสุดของเมืองไทยภายใต้อำมาตย์อย่างนี้ ก็เป็นเหตุได้

รัฐบาลพลัดถิ่นจึงเป็นสมบัติสาธารณะ และเป็นกลไกของเราในฝ่ายประชาธิปไตย
ไม่ต้องไปฟังความเห็นของเหล่าขี้ข้าอำมาตย์ในรัฐบาลหรอกครับ เพราะเราไม่ได้ต้องพึ่งอะไรเขาในการจัดตั้ง

ถึงเวลาอันเหมาะสม เราตั้งได้แน่ครับ.