article : Giles Ji Ungpakorn - ใจ อึ๊งภากรณ์
date : September 3, 2009 - 3 กันยายน 2552
“ความขัดแย้ง” ในแกนนำเสื้อแดง
คือโอกาสในการร่วมกันคิดหาทางออกให้ชัดว่าจะสู้อย่างไร
ผมเข้าใจความรู้สึกของคนเสื้อแดง
ที่ไม่สบายใจ เมื่อเห็นแกนนำเสื้อแดงเถียงและวิจารณ์กัน
แต่ความรู้สึกนั้นผิดพลาด
การที่แกนนำเสื้อแดงเถียงกันตอนนี้ มีรากฐานมาจากแนวความคิด
ทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว หรือความไร้น้ำยาของใคร
มันสะท้อนวิกฤตในสังคมไทยที่เราต้องร่วม กันแก้ และมันสะท้อนความ
ยากลำบากในการแก้ ผมอยากชักชวนให้เราชาวเสื้อแดงมองว่าการถกเถียง
เรื่องแนวทางการต่อสู้เป็น เรื่องดี ไม่ใช่ข้อเสียแต่อย่างใด เพราะมันบังคับ
ให้พวกเราคิดตามประเด็นถกเถียง
ผมอยากให้เสื้อแดง ทุกคนมีส่วนร่วมในการถกเถียงนี้ ขบวนการเสื้อแดง
เป็นขบวนการประชาธิปไตยของมวลชนชั้นล่างที่ถูกกดขี่มานาน ขบวนการ
ประชาธิปไตยในทุกยุคทุกสมัยทุกประเทศ ย่อมเต็มไปด้วยการถกเถียง
และนี่คือจุดแข็งจุดเด่น
เราไม่เหมือนเสื้อเหลืองที่ขัดแย้งกัน เรื่องการกอบโกย หรือเรื่องอำนาจที่จะกอบโกย
ไม่ว่าจะเป็นทหารชั้นผู้ใหญ่ คนในแวดวงเบื้องสูง อภิสิทธิ์ เนวิน สุเทพ หรือ
ผู้นำพันธมิตรฯ พวกนี้เป็นเหลืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์พิเศษของเขาแต่แรก
เขาเลยทะเลาะกันเรื่องผลประโยชน์เสมอ
เสื้อแดงไม่ใช่เทวดา แต่ประเด็นผลประโยชน์ส่วนตัวไม่ใช่ประเด็นหลักในขณะนี้
คนเสื้อแดงเข้าใจดีว่าปัจจุบันอำมาตย์ครองเมือง
ผมอยากให้มองว่า อำมาตย์ดังกล่าวไม่ใช่บุคคลหยิบมือเดียว
ไม่ใช่สถาบันเดียว แต่เป็นพวกทหารชั้นสูง ข้าราชการชั้นสูง องคมนตรีและขุนนาง
รวมถึงเศรษฐีนักการเมืองเหลือง
อำนาจของพวกนี้ทั้งกลุ่มฝังลึกอยู่ ศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ทหาร เพราะมีเครื่องมือ
ในการใช้ความรุนแรงเพื่อเผด็จการ แต่พวกนี้ใช้สถาบันเบื้องสูงเพื่อพยายามสร้าง
ความชอบธรรมด้วย
อำมาตย์ ในทุกที่ทั่วโลกต้องมีอาวุธสองชนิดคือปืนกับการสร้างความชอบธรรม
เขาจะคุมทหาร ตำรวจ ศาล คุก และเขาจะคุมสื่อ โรงเรียน และปิดกั้นความคิด
ขบวนการเสื้อแดงเติบโตจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้ของคนจำนวนมาก
หลัง 19 กันยา ในช่วงแรกๆ เราไม่ต้องคิดอะไรหนักเพราะเรามองว่าเรามีมวลชน
และมีความชอบธรรม
แต่ หลังเมษาเลือดเราเริ่มเห็นชัดว่าเราเผชิญหน้ากับอำนาจที่แข็งแกร่ง
แค่เดินขบวนและชุมนุมไม่พอ พันธมิตรฯมันเดินขบวนและมีผลเพราะมันใช้ความรุนแรง
และมีทหารและคนชั้นสูง หนุนหลัง มันไม่ได้ชนกับอำนาจอำมาตย์
เราเรียนรู้ว่าแค่ชนะการ เลือกตั้งหลายรอบก็ไม่พออีกด้วย นี่คือที่มาของการถกเถียง
ในหมู่แกนนำเสื้อแดงปัจจุบัน และผมมั่นใจว่าในหมู่คนเสื้อแดงรากหญ้ามีการเถียงกัน
ในทำนองเดียวกัน การถกเถียงนี้จะช่วยให้เราชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับแนวทางต่อสู้ และ
ถ้าเราวิเคราะห์ออก เราจะชัดเจนว่าเราสามารถสามัคคีกันตรงไหนได้ และมองต่างมุมใน
ส่วนไหน โดยไม่ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยอ่อนแอ
ถ้าจะสรุปเหมารวม การถกเถียงครั้งนี้เป็นการถกเถียงระหว่างสองฝ่าย
ในแต่ละฝ่ายก็ไม่ใช่ว่าคนจะคิดเหมือนกันหมด แต่เราสามารถจัดเป็นสองกลุ่มได้คือ
(1) กลุ่มแกนนำสามเกลอและทักษิณ เป็นกลุ่มที่อยากจะค่อยๆเป็นค่อยๆไป พร้อมจะ
หาทางประนีประนอมเพื่อได้ประชาธิปไตยกลับมา โดยไม่ต้องปะทะมากเกินไป แนวนี้
คือแนวปฏิรูป
ส่วนกลุ่มที่
(2) ประกอบไปด้วยจักรภพและสุรชัย ที่มองว่าประชาธิปไตยแท้จะไม่มีวันเกิดขึ้นถ้าไม่สู้
แบบปะทะอย่างตรงไปตรงมา นี่คือแนวปฏิวัติ
ผมเองก็สนับสนุนแนวคิดกว้างๆ ของกลุ่มที่สองนี้ด้วย
ผมไม่อยากจะเอาคำพูดไปยัดปากใคร หรือความคิดไปยัดใส่หัวใคร ทุกท่านต้องอ่านและฟัง
สิ่งที่เจ้าตัวพูดเอง ไม่ใช่ไปสรุปแทนหรือบิดเบือนอย่างที่มีคนทำกับผมบ่อยๆ
แต่ถ้าจะ สรุปคร่าวๆ สองแนวนี้คือทางเลือกระหว่างการค่อยๆปฏิรูปและประนีประนอม กับ
การปฏิวัติเพื่อสร้างสังคมใหม่ ในขณะนี้ทั้งสองฝ่ายเชื่อว่าแนวทางของตนเองเป็นแนวที่ดีที่สุด
ที่จะนำสังคม ไปสู่ประชาธิปไตย ในอนาคตจะเป็นอย่างไรเดี๋ยวดูเอาเอง แต่จุดร่วมอันสำคัญคือ
ทั้งสองฝ่ายมองว่าจะต้องหาทางข้ามปัญหาอำนาจที่แข็ง แกร่งของอำมาตย์ให้ได้
กลุ่มปฏิรูปประนีประนอมมีข้อดีตรงที่พยายามจะหาทางสันติที่ไม่ปะทะตรงๆ
ไม่เสียเลือดเนื้อมากเกินไป และไม่พยายามทำในสิ่งที่ดูใหญ่โตและยาก แต่ข้อเสียคือมันจะนำ
ไปสู่ประชาธิปไตยจริงได้หรือ ?
หรือจะ นำไปสู่การยอมจำนนในที่สุด ?
การถวายฎีกามีข้อเสียตรงที่ไปมอบอำนาจให้กับประมุขในลักษณะเหนือรัฐธรรมนูญ
ซึ่งจะส่งเสริมอำนาจอำมาตย์ ในด้านความคิดการถวายฎีกาอาจช่วยเปิดโปงความจริงบางอย่าง
แต่ในมุมกลับอาจไม่เปิดโปงอะไรใหม่และอาจนำพาคนไปจงรักภักดีกับอำมาตย์ก็ได้
กลุ่ม ปฏิวัติ ไม่ใช่กลุ่มปฏิวัติทุนนิยมเพื่อสังคมนิยม แต่เป็นกลุ่มที่อยากสู้อย่างถึงที่สุดกับ
อำนาจเผด็จการ และมองว่าการต่อสู้ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเล่น กลุ่มนี้มองว่าการประนีประนอม
กับอำมาตย์จะไม่กำจัดอำนาจเผด็จการซึ่งจะรื้อฟื้นตัวเองขึ้นมาได้ตลอด
ผม ไม่อยากพูดแทนคนอื่น และคนอื่นคงมองต่างมุมกับผม
ดังนั้นผมจะให้ข้อสังเกตของตนเองเท่านั้นคือ ผมเชื่อว่าเราสร้างประชาธิปไตยแบบที่มีประมุข
ในรูปแบบอังกฤษหรือญี่ปุ่นคงทำ ไม่ได้แล้วในไทย เพราะพวกทหารและกลุ่มอื่นจะดึงประมุข
มาเป็นข้ออ้างในการทำลายประชาธิปไตย เสมอ การเขียนรัฐธรรมนูญก็ไม่ช่วยเพราะทหารฉีกและ
ละเมิดรัฐธรรมนูญเป็นสันดาน
ดัง นั้นเราต้องเปลี่ยนสังคมแบบถอนรากถอนโคน
ต้องลดอำนาจและงบประมาณกองทัพ ต้องปฏิรูปศาลให้หมด ต้องมีระบบลูกขุนประชาชน
ต้องปฏิรูปตำรวจ ต้องสร้างสื่อมวลชนของประชาชนแทนสื่อปัจจุบัน และต้องเปลี่ยนระบบการศึกษา
ทุกตำแหน่งสาธารณะต้องมาจากการเลือกตั้ง และต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ทางเศรษฐกิจ เพราะการแก้นิดๆหน่อยๆ จุดเดียวจะไม่ประสบความสำเร็จ
ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้ที่เราต้องการนี้
ผมเองหวังอย่างยิ่งว่าประชาชนจำนวนมากจะเริ่มเข้าใจว่าแค่ประชาธิปไตยรัฐสภา ไม่พอ
เราต้องมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วย ประชาชนต้องมีอำนาจในการกำหนดทิศทางการผลิต
และการลงทุน ซึ่งแปลว่าต้องยกเลิกทุนนิยมและนำระบบสังคมนิยมมาใช้ (ซึ่งจะแตกต่างโดย
สิ้นเชิงกับระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ที่มีในลาว เกาหลีเหนือ คิวบา หรือจีน) ในย่อหน้านี้ผม
อาจมองต่างมุมหรือมองเหมือนกับคนอื่นในกลุ่มปฏิวัติก็ได้ ผมไม่ทราบ ต้องรอให้เขาอธิบายเอง
ผมต้องยอมรับว่าสิ่งที่เราในกลุ่มปฏิวัติกำลังเสนอ เป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้เวลา
และที่สำคัญที่สุดคือต้องใช้พลังมวลชน บทสรุปสำคัญจาก 14 ตุลา และพฤษภา 35
คือการเปลี่ยนสังคมต้องมาจากกระแสมวลชน ไม่ใช่จากคนกลุ่มเล็กๆ ไม่ว่าคนกลุ่มนั้นจะ
ติดอาวุธหรือไม่ แต่ถ้าคิดดูให้ดี สภาพสังคมไทยตอนนี้น่าจะสอนให้เราทราบว่าการต่อสู้
เพื่อประชาธิปไตยเป็น เรื่องใหญ่อยู่แล้ว
ผมไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านพอใจกับประชาธิปไตยครึ่งใบหรือไม่ แต่ผมไม่พอใจ
แนว ปฏิวัติเสี่ยงกับการถูกปราบ และคนที่เสี่ยงที่สุดคือคนในประเทศ(ไม่ใช่ผม)
แต่แนวปฏิรูปเสี่ยงกับการยอมจำนนต่ออำมาตย์ เลือกเอาเองครับเพื่อนเสื้อแดงทั้งหลาย
พวกเราถึงทางแยกสำคัญที่บังคับให้เราต้องคิดหนัก เราไม่ควรเงียบ หรือเอาหัวไปมุดดิน
เราควรจะพูดและคิด ควรจะถกเถียงอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด
แต่อย่าลืมขยันสร้างความสามัคคีด้วยในเรื่องที่ทำได้ อย่าลืมว่าศัตรูหลักคือพวกอำมาตย์