คอลัมน์เลือกคบไม่เลือกข้าง จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
ปีที่ 9 ฉบับที่ 2347 ประจำวัน พฤหัสบดี ที่ 7 สิงหาคม 2551
บทความโดย กาหลิบ
ฝรั่งเขามีวิธีเขียนหนังสือที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง เมื่อพูดถึงคำหรือวลีใดๆ
ที่คนพูดไม่เห็นด้วยว่าเป็นเช่นนั้น หรือมีคนเป็นจำนวนมากไม่เห็นด้วย
ว่าเป็นเช่นนั้น หรือแม้แต่ไปยกคำพูดของผู้อื่นมาพูด เขาจะใส่เครื่องหมาย
อัญประกาศ หรือที่ชอบเรียกว่ากันว่าเครื่องหมายคำพูดไว้ที่คำหรือวลี
นั้น คนอ่านจะรู้ทันทีว่าคนพูดเขาไม่ใช่คนต้นคิด
ไม่ต้องยกตัวอย่างหรอกครับ เอาคำจริงๆที่ผมอยากจะใช้วิธีการนี้ทุก
ครั้งที่พูดถึงกันเลยดีกว่าคำว่า “กฎหมาย” นั่นอย่างไร
เสียดายที่ไวยากรณ์ไทยไม่มีกลไกนี้ (มีเครื่องหมายเหมือนเขาแต่ไม่ได้
ใช้งานอย่างเดียวกัน) ไม่อย่างนั้นผมจะใส่เครื่องหมายอัญประกาศไว้
ทุกครั้งที่เอ่ยคำนี้ขึ้นมา
ใครว่า “กฎหมาย” เป็นกฎหมายชนิดที่ไม่ต้องใส่เครื่องหมายอัญประกาศ
ก็แปลว่าเขาเห็นว่าในบ้านขณะนี้มีกฎหมายจริง
ผมอยากจะใส่เครื่องหมาย “......” เพราะเห็นว่ากฎหมายในเมืองไทย
ขณะนี้มีการปลอมปนอยู่มาก รวมทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ฉบับปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ ด้วย
ซึ่งเป็นความเห็นเดียวกับคนระดับอาจารย์มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ซึ่ง
เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และอธิบดีผู้พิพากษาศาล
อาญา ผู้ยอมรับหน้าที่ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ
จนต้องติดคุกติดตะรางนั่นล่ะครับ
อาจารย์มานิตย์ยืนยันตั้งแต่แรกเริ่มมาแล้วว่า การรัฐประหารไม่ใช่สิ่ง
ที่จะยอมรับหรือนำมาต่อรองอะไรกันได้ เพราะเป็นการกบฏ
ใครยอมรับว่าการรัฐประหารถูกต้อง หรือไปช่วยให้การรัฐประหาร
กลายเป็นความถูกต้องก็อยู่ในฐานความผิดที่เป็นกบฏทั้งนั้น
“กฎหมาย” ของคณะผู้ยึดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นประกาศฉบับใหญ่น้อย
หรือกฎหมายแม่บทขนาดรัฐธรรมนูญก็ตาม ถ้ามาจากการใช้อำนาจเถื่อน
มาบังคับและฉีกรัฐธรรมนูญของประชาชนทิ้งแล้วล่ะก็ โลกสากลเขา
ถือว่าไม่แตกต่างจากกระดาษชำระที่ใช้งานแล้ว
ถามว่าแล้วทำไมมาพูดกันอีกครั้งในขณะนี้
เพราะกำลังจะโดนลงโทษตาม “กฎหมาย” แล้วหรือมิใช่?
เกิดเคราะห์หามยามร้าย จึงดวงตาเห็นธรรมใช่ไหม? คำตอบคือไม่ใช่
เหตุที่ไม่รุกรานถึงสันดานเดิมของคนที่สั่งการหรือลงมือกระทำรัฐประหาร
ไม่ไล่เบี้ยกันเสียตั้งแต่ตอนนั้นว่าเอา “กฎหมาย” หรือกฎหมายโจรมาบังคับ
ใช้อย่างกฎหมายจริงได้อย่างไร ก็เพราะเชื่อแบบไทยเดิมว่าวิกฤตใดๆ
ในเมืองไทยควรจะหาทางออกกันโดยประนีประนอม
ขนาดเอาโจรมานั่งเมือง และใช้กฎหมายโจรมาวางระเบียบบ้านเมือง
ยังอดทนยอมรับกันว่าไม่เป็นไร เราตกลงกันได้ เขาบ้าง เราบ้าง จะได้
อยู่ร่วมกันต่อไปได้ ซึ่งเป็นการคิดผิดอย่างมาก และนำมาสู่ความ
ขัดแย้งในระดับประวัติศาสตร์ครั้งนี้ เพราะในขณะที่เราคิดเรื่องการ
ประนีประนอม หรือใช้คำของเขาก็ยังได้นั่นคือ “สมานฉันท์” เขากลับ
คิดว่าหลอกล่อเราให้เข้าสู่เป้าปืนของเขาได้สำเร็จ
หลอกกันสองครั้งสองรอบ รอบแรกคือหลอกว่าจะไม่มีรัฐประหาร
รอบที่สองคือหลอกว่าทุกอย่างจะลงตัว และไม่มีที่น่าวิตกกังวล
หลอกว่าบ้านเมืองจะกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ก็สร้าง
รัฐธรรมนูญที่พาประเทศชาติลงเหวไปอีกทาง
หลอกว่าจะเลิกแทรกแซงกระบวนการทางรัฐสภา แล้วก็สร้างกลุ่มพันธมิตรฯ
ขึ้นมาเป็นสภาตอบสนองความสะใจของตนเองอย่างต่อเนื่องทั้งที่ผิดทุกประตู
หลอกว่า “กฎหมาย” ว่าเป็นกฎหมายจริง ทั้งที่เป็นกฎหมายโจรตั้งแต่
หัวจรดเท้า พูดได้คำเดียวในขณะนี้ว่า อาจารย์มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ
ที่ใครว่าแรงเกิน ไม่ประนีประนอมเสียเลยนั้น ท่านถูกของท่านมาตลอดทางครับ.