Sunday, January 24, 2010

อำมาตย์เนรคุณ

คอลัมน์ “ผมเป็นข้าราษฎร”
หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์วิวาทะ Thai Red News ปีที่ 1 ฉบับที่ 34
บทความ "อำมาตย์เนรคุณ" / มกราคม 2553 / January 2010
article / บทความโดย : จักรภพ เพ็ญแข


การเชือด พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม
ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๕ โดยย้อนความผิดที่ได้อุ้มฆ่าชาวซาอุดิอาระเบีย
เมื่อหลายสิบปีก่อน เป็นตัวอย่างที่ดีของวิถีโจรในระบอบอำมาตยาธิปไตย


จับขึ้นมาขึงพืด บูชายัญ เป็นแพะถูกเชือดเพื่อไม่ให้ถึงตัวมหาอำมาตย์ หรือทำให้ระบอบอำมาตย์เสียหาย
ทั้งที่ใช้วิชาโจรและสันดานดิบของฆาตกรช่วยทำงานให้กับอำมาตย์มาไม่น้อยกว่าลูกหาบคนอื่นๆ กระเทือนใจอย่าง
แสนสาหัสไปจนถึงคนเป็นพี่อย่าง พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ผู้ออกโรงมาตลอดจนบัดนี้ ก็เพราะต้องการช่วยเหลือ
สมคิดให้พ้นภัยจากคดีฆ่าชาวซาอุฯ

พอสุดท้ายพบว่าตัวเองและน้องชายเป็นเพียงแพะบูชายัญของมหาอำมาตย์
ป่านนี้ก็คงนอนก่ายหน้าผากรำพึงว่าไม่น่าเลย ทำลายโคตรตระกูลบุญถนอมเพราะไปเชื่อว่าอำมาตย์เขาจะจริงใจด้วย

เรื่องนี้เป็นอนุสติล่าสุดของคนที่ยึดมั่นถือมั่นในระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตย และมีปกติวิสัยวิ่งไปกราบตีนเขา

ถ้าอ่านประวัติศาสตร์กันสักเล็กน้อย
จะรู้ทันทีว่าการหลอกให้คนมาเป็นพวก และใช้งานเขาจนน้ำแห้งไปทั้งตัว
เหลือเพียงกากหรือซากก่อนจะโยนทิ้งอย่างไม่แยแส เป็นธรรมชาติของ
มหาอำมาตย์ไทยที่ได้ทำต่อเนื่องมานานแล้วจนเป็นมากกว่านิสัย


ถ้าไม่ใช่สันดอนก็ต้องเป็นสันดานไปแล้ว

คนในวัยรุ่นที่มีจิตใจปกติธรรมดา ถ้ากระทำความผิดขนาดทำให้คนตายโหงไปต่อหน้า เมื่อได้รับความช่วยเหลือจาก
คนที่รักเขาและผูกพันกับเขาจนถึงขั้นเข้ารับความผิดแทน หรือช่วยปกปิดความผิดจนมิดชิด มักจะสำนึกบุญคุณของ
คนๆนั้น หรือคนเหล่านั้นไปจนตาย หรืออาจใช้หนี้กรรมข้ามชาติข้ามภพเลยด้วยซ้ำ

แต่ถ้ามีจิตใจชนิดผิดปกติ นอกจากไม่สำนึกในบุญคุณแล้ว ยังจับไปฆ่าจนตายเพื่อกำจัดพยานรู้เห็น
ยึดเอาความอยู่รอดของตัวเป็นที่ตั้ง ทำลายทั้งชีวิตและจิตใจของผู้คนเหล่านั้น ตลอดจนครอบครัวของเขา ขนาดไหน
หรือกี่ชั่วอายุคนก็ช่าง คนบางคนเห็นแก่ตัวชนิดข้นคลั่ก มองทะลุไปจนถึงหัวใจสีดำและความโหดเหี้ยมเลือดเย็น
แววตาที่เรียบเฉยไร้ความรู้สึกรู้สมที่เพียงเห็นก็ขนลุก

เมื่อเวลาผ่านไป เขี้ยวยาวขึ้น ก็รู้จักเอาใจคนหนึ่งไปฆ่าอีกคนหนึ่งในทางการเมือง
ดร.ปรีดี พนมยงค์ เตียง ศิริขันธ์ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์
ถวิล อุดล จำลอง ดาวเรือง จอมพลแปลก พิบูลสงคราม จิตร ภูมิศักดิ์
กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถนอม กิตติขจร - ประพาส จารุเสถียร กฤษณ์ สีวะรา
เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจักษ์ สว่างจิตร ณรงค์เดช นันทโพธิเดช ฯลฯ
สูญเสียชีวิตหรือโอกาสที่จะได้รับใช้บ้านเมืองเช่นนี้ทั้งนั้น


นี่ยกเฉพาะผู้มีชื่อเสียงเท่านั้น คนทั่วไปที่ไม่โด่งดังและต้องล้มหายตายจากไปด้วยแรงตัณหา
(ความกระเสือกกระสนเอาตัวรอด) ของมหาอำมาตย์ ยังมีอีกมากมายเหลือคณานับ

ก่อนกรณีของ สมคิด บุญถนอม ก็มีเรื่องของ สนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งรับใช้เขาด้วยการใช้สติปัญญาที่มีมาตลอดชีวิต
และไปลากเครือข่ายทั้งหมดที่ตัวสร้างไว้มารองรับ จนประสบความสำเร็จในการทำลายระบอบประชาธิปไตยในระยะ
ตั้งไข่ได้ เมื่อถึงคราววางบิล และวางโฉ่งฉ่างแบบสนธิชอบทำ เขาก็พร้อมลืมผลงานเหล่านั้นและส่งลูกตะกั่วมาฝัง
ไว้ในหัวให้แทน

แต่กรณีของคุณสนธิน่าเห็นใจน้อยกว่า เพราะคุณสนธิทำโดยคาดคะเนผลประโยชน์ของตนแล้วอย่างเต็มที่ ทำ
สัญญากับปิศาจ แล้วโดนปิศาจหักหลังเข้าให้ จะไปร้องแรกแหกกระเชอกับใครได้เล่า นรกขุมนี้เป็นของมหาอำมาตย์
อสุรกายน้อยใหญ่เป็นของเขาทั้งสิ้น ถึงคุณสนธิจะเลี้ยงตำรวจ ทหาร ข้าราชการ นักการเมือง มาขนาดไหน ถึงเวลาที่
อำมาตย์เขาเรียกตรวจแถว คนที่คุณสนธิเผลอคิดว่าเป็นเด็กของตัวมักเป็นคนแรกๆ ที่อาสาเข้ามาเด็ดชีพของคุณสนธิ
เสียเอง

คติของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ระบอบเผด็จการมันก็คือระบอบเผด็จการวันยังค่ำครับ
เราอาจเผลอไผลคิดไปว่า เผด็จการทหารหนักกว่าพลเรือนเพราะมีกำลังสรรพาวุธ หรือเผด็จการพลเรือนโลกแคบ
อย่างสมัยองคมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียรน่าจะอันตรายยิ่งกว่า แต่ในที่สุดแล้วเผด็จการต่างมีธรรมชาติ (สันดาน) อย่าง
เดียวกันหมด ระบอบเผด็จการต้องมีผู้เผด็จการ ซึ่งอาจใหญ่โตอยู่คนเดียว ไม่แบ่งลูกแบ่งเมีย ไม่มีใครร่วมใช้อำนาจ
ด้วย (ตามแนว The Prince ของนิโคโล แมคเคียเวลลี่) หรือใช้อำนาจกันเป็นหมู่คณะ (power-sharing) แต่ก็ต้องมี
ศูนย์อำนาจที่จะ “ฟันธง” ได้เมื่อจำเป็น

ตรงศูนย์อำนาจนี่ล่ะ ที่คนจะวิ่งกันเข้าไปเอาอกเอาใจ เสนอตัวทำงาน และอาสาประสานประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจ

ไม่ต่างนักกับวิถีของรัฐบาลประชาธิปไตย
แต่ระบอบเผด็จการจบที่ตัวผู้เผด็จการ ไม่มีใครต่อรองได้อีก
แต่ระบอบประชาธิปไตยไปจบลงที่ประชาชนส่วนใหญ่
เพราะโครงสร้างบังคับให้ต้องคิดถึงผลประโยชน์ของคนทั้งหลายก่อนตัวเองและพรรคพวก
ถ่วงน้ำหนักอย่างเหมาะสมระหว่างคนมี (the haves) และคนไม่มี (the havenots) ในสังคมนั้น

ผู้เผด็จการก็จะเลือกและทดลองใช้คน ด้วยความที่มีตัวเลือกมากก็เลือกใช้งานอย่างหลากหลาย
โดยเฉพาะงานสกปรกและงานใต้ดินต่างๆ ที่ต้องใช้คนที่มีความสามารถอำพรางตัวเองสูง อย่างที่เกิดมาตลอดใน
ช่วงสามปีเศษที่ผ่านมา และเมื่องานจบแล้ว คนเหล่านั้นต้องการรางวัลตอบแทนเกินกว่าที่จะให้ได้ ก็จะเรียก
คนใหม่มาฆ่าคนเก่า หรือทำลายทิ้งอย่างเลือดเย็น เหมือนกับการฆ่าหมู่ยิวสมัยนาซี

ใครก็ตามที่มีความต้องการแรงกล้า ที่จะได้อำนาจรัฐ ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะของประชาชน ไม่มีทางลัดด้วยการ
สถาปนาตนเองเป็นผู้เผด็จการ หรือเกาะหางเผด็จการไปสู่อำนาจรัฐ ต้องนอบน้อมถ่อมตัวและเข้าหามวลชน
ให้มวลชนตัดสินว่าตนสมควรจะได้รับโอกาสหรือไม่ จึงจะได้มาซึ่งอำนาจและใช้อำนาจนั้นได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้อง
ใช้วิธีมืดดำอย่างเผด็จการในการประคองตัว หรือต้องคิดกำจัดคู่แข่งทางการเมือง

ผมรู้มาว่ามหาอำมาตย์ไทยจะกำจัดลูกหาบของตนอีกหลายคน
เพราะความดื้อรั้นของตัวเองได้นำบ้านเมืองเข้าสู่ทางตัน จนลูกหาบทั้งหลายเริ่มละล้าละลัง
จะทำงานต่อก็ไม่กล้า จะย้อนไปล้างความผิดที่กระทำมาตลอดช่วงปีที่ผ่านมานี้ก็ทำไม่ได้
จึงเริ่มคิดที่จะโดดเรือหนี เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด แต่ก็สายเกินไปทั้งสำหรับลูกน้องและเจ้านาย
คนบางคนจึงต้องถูกทำลายทิ้งเพราะเป็นพิษ


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ความเนรคุณคือลักษณะประจำของเผด็จการทุกชนิด รวมทั้งไม้ตายซากในเมืองไทยด้วย.