interview Jakrapob Penkair : June 2009
ระหว่างบรรทัดความขัดแย้งและการต่อสู้ กับ จักรภพ เพ็ญแข
โดย : หนังสือพิมพ์ “แนวร่วม” รายสัปดาห์ (ฉบับอุ่นเครื่อง)
Q. ระหว่างบรรทัด ในการให้สัมภาษณ์ของคุณจักรภพกับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง
และระหว่างบรรทัดจากข้อเขียนของคุณในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น (Red News)
ก่อให้เกิดความสงสัยในคนเสื้อแดงหลายคนและถูกขยายความต่อจากฝ่ายตรงข้าม
ว่า เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงกันในหมู่แกนนำเสื้อแดง โดยเฉพาะคุณจักรภพกับ
คุณจตุพร บอกได้หรือไม่ว่ามันเป็นเรื่องของอารมณ์หรือความแตกต่างกันทางความคิด
ใน ยุทธวิธีการต่อสู้
A. คนที่สวมเสื้อแดงที่หัวใจและจิตวิญญาณเขาไม่สนใจเรื่องตัวบุคคลหรอกครับ
เขาสนใจว่าขบวนการประชาธิปไตยของเรามีวุฒิภาวะแค่ไหน และจะเดินต่อไปสู่
เป้าหมายอย่างไรมากกว่า ขณะนี้เรากำลังสร้างแนวร่วมประชาธิปไตยให้เป็นเครือข่าย
ที่สำคัญและมีพลัง เราทิ้งใครหรือตั้งข้อรังเกียจใครไม่ได้ทั้งนั้น ทุกคนมีความหมายและ
ความสำคัญ เพราะระบอบอำมาตย์เขาจัดตั้งมานานและแน่นแฟ้น เหมือนต้นโพธิ์
กับกำแพงผุที่กอดกันอยู่ เราเห็นภูเขาตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้าแล้ว จะมานั่งเถียงกัน
ทำไมครับว่าจอบของใครขุดได้ดีกว่า เราต้องใช้จอบทุกอันที่มีนั่นแหละ
Q. หลายคนมองว่าโดยส่วนตัวของคุณนั้นต้องการให้ความรุนแรงในการต่อสู้
เป็นตัวตัดสิน โดยเฉพาะเหตุการณ์สงกรานต์เลือดที่ผ่านมา
A. นั่นเป็นเรื่องแต่งครับ เรามีอะไรในขบวนการเสื้อแดงที่จะไปก่อความรุนแรงเล่า?
อาวุธก็ไม่มี กำลังจากไหนๆ ก็ไม่มี ที่สำคัญคือเจตนาที่จะก่อความรุนแรงวุ่นวายก็ไม่มี
ผมเห็นแต่ฝ่ายตรงข้ามเท่านั้นที่เขามีทั้งกำลังทหาร ตำรวจ สายลับ ข่าวกรอง และ
ขบวนการประชาชนจัดตั้งแบบติดอาวุธเตรียมก่อเรื่องแบบที่นางเลิ้ง ใครที่อยากเชื่อ
เรื่องแบบนี้ ควรย้อนไปดูเทปการชุมนุมของพวกเราตั้งแต่ยุค PTV เป็นต้นมาว่าเราเรียกร้อง
ให้ใช้ความรุนแรงบ้างหรือไม่ ผมอยู่กับขบวนการของเรามาตลอด และยึดอยู่กับหลักการ
แห่งความสงบ สันติ และปราศจากอาวุธเรื่อยมา
Q. คุณมองว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงและขบวนการผู้รักประชาธิปไตยมันเป็น "เกม"
ที่ต้องรู้แพ้-ชนะ กันในกรอบเวลาที่จำกัด หรือเป็นสงครามที่อาจพ่ายแพ้ในศึกหนึ่ง
แต่มิได้หมายความว่าจะเป็นการปิดฉาก
A. ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เกม ซึ่งแปลว่าการละเล่นเพื่อความเพลิดเพลินของใครสักคนหนึ่ง
การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่เกม แต่เป็นวิถีชีวิตของคน 64 ล้านคนที่ต้องการคำตอบ
ว่าชีวิตของเขาขึ้นอยู่กับอะไร ขึ้นอยู่กับอำนาจลึกลับที่คอยบงการชี้นำประเทศ ซึ่งเป็น
อำนาจที่ปราศจากความพร้อมรับผิดเพราะหาตัวคนสั่งไม่ได้ หรือขึ้นกับตัวแทนในระบอบ
ประชาธิปไตยที่ขึ้นมามีอำนาจชั่วคราว โดยประชาชนสามารถถ่วงดุลและตรวจสอบได้
เรื่องขนาดวิถีชีวิตนี่ กำหนดวันเวลาที่แน่นอนไม่ได้หรอกครับ ผมรู้แต่ว่าใครเอาจริงเอาจัง
กับเรื่องนี้ ก็ต้องถือว่าเป็นภารกิจแห่งชีวิต และอุทิศตนเต็มที่ จะวางขั้นตอนชัดเจนแบบ
ทำธุรกิจคงจะไม่ได้
Q. คุณพูดถึงการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการประชาธิปไตย
อยากทราบถึงโมเดลกระบวนการทำงานของหน่วยงานนี้ว่าเป็นเช่นไร
A. หน่วยปฏิบัติการประชาธิปไตยมีขึ้นเพื่อตอบโจทย์ในอดีต
ว่าทำไมขบวนการประชาธิปไตย ของเราจึงได้พ่ายแพ้มาตลอด ประชาชนของเรามีความ
บริสุทธิ์ใจมาก แต่ฝ่ายตรงข้ามเขามีเล่ห์เหลี่ยมรอบตัวและโหดเหี้ยมอำมหิต สู้กันลำบาก
เราต้องการกิจกรรมประชาธิปไตยที่มีอุดมการณ์และวิธีคิดที่เป็นประชาธิปไตย แท้ แต่ต้อง
มีประสิทธิภาพและสร้างอำนาจต่อรองให้กับฝ่ายประชาชนได้ รูปธรรมคือสรรหาและพัฒนา
นักปฏิวัติประชาธิปไตยเต็มเวลามาทำงาน จะอยู่ที่ไหนในโลกก็ได้ ทำงานประสานกับคนใน
อย่างใกล้ชิด มุ่งหวังผลเลิศ แต่ไม่ได้มุ่งหมายผูกขาดการปฏิวัติประชาธิปไตยไว้เป็นของตน
รูปแบบเรียบง่าย ประกอบด้วยศูนย์กลาง แกน เครือข่าย และแนวร่วม ทำงานกับขบวนการ
ประชาธิปไตยสากล เพราะการโค่นล้มเผด็จการไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของประเทศหนึ่งประเทศใด
Q. แน่นอนว่าหน่วยงานนี้จะไม่ใช่กองกำลังติดอาวุธหรือการเล่นเกมใต้ดินที่มีบางกลุ่ม
พยายามยัดเยียดการต่อสู้ในแนวทางรุนแรงนี้ให้กับคุณ
A. จินตนาการไปเถิดไม่เป็นไร
แต่ระวังยัดเยียดจะอะไรแล้วเกิดเป็นประโยชน์กับผมขึ้นมาก็แล้วกัน
Q. ในความเป็นนักรัฐศาสตร์ของคุณๆ มองการต่อสู้และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ภายใต้แนวทางสังคมนิยมของหลาย ประเทศในยุโรปเป็นเช่นไร แบบอย่างไหนที่คุณคิด
ว่าใกล้เคียงกับประเทศไทยมากที่สุด
A. ยุโรปกลายเป็นประชาธิปไตยได้ก็เพราะผ่านเผด็จการสุดขั้วมานับร้อยปี
ทั้งเผด็จการราชาธิปไตย เผด็จการทหาร และเผด็จการจักรวรรดินิยม ประเทศไทยอาจจะกระโดด
พรวดเดียวไปถึงขนาดนั้นไม่ไหว ดูประเทศใกล้ตัวอย่างอิหร่านและญี่ปุ่นสิครับ ไปดูไกลนักทำไม
อิหร่าน ที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งประธานาธิบดีไปเมื่อวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2552
เป็นการสู้รบกันระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายเสรีนิยมหรือฝ่ายก้าวหน้า แต่เมื่อฝุ่นการเมือง
หายตลบอบอวลแล้ว กลับพบว่าผู้ชนะตัวจริงไม่ใช่อาหมัดดิเนจัดหรือมูซาวี แต่กลับเป็น
อะยาตุลาห์โคเมเนอี ผู้เป็น “ผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณ” ซึ่งมีอำนาจกดปุ่มได้ทั้งนั้นและประเทศ
ก็จะหันเหไป ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะการเลือกตั้งก็ตาม นั่นแสดงว่าอิหร่านมีระบบ “รัฐซ้อนรัฐ”
นั่นคือรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ทำหน้าที่ไปในฉากหน้า รับความผิดรับความบกพร่องอะไร
ไปทั้งหมด รัฐบาลตัวจริงที่ไม่เคยได้เลือกตั้งก็คอยควบคุมอำนาจรัฐอันแท้จริงอยู่ข้าง หลัง
นั่นคือภาพเปรียบเทียบกับไทยในปัจจุบัน
ส่วนญี่ปุ่นเป็นระบอบ ประชาธิปไตยอันมีองค์พระจักรพรรดิเป็นประมุข รัฐบาลที่มีอำนาจจริง
มาจากการเลือกตั้ง ในขณะที่ราชสำนักเป็นสัญลักษณ์ที่ดีงามในทางวัฒนธรรม สูงส่งและไม่
แปดเปื้อนด้วยการแย่งชิงผลประโยชน์ ทำให้ชาวญี่ปุ่นแยกได้เด็ดขาดระหว่างปูชนียบุคคลกับ
ผู้มีอำนาจในทางการเมือง นั่นคือภาพของราชอาณาจักรที่มีความก้าวหน้า
เรามักนำตัวเองไป เปรียบเทียบกับโลกตะวันตก ในขณะที่โลกตะวันออกในครรลองใกล้เคียงกัน
มีอะไรให้เทียบเคียงได้มาก ทั้งในความเหมือนและความแตกต่าง
Q. คุณรู้สึกหรือไม่ว่าเมื่อใดที่ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยถูกทำ ถูกออกแบบให้ใกล้ชิด
กับลัทธิบูชาตัวบุคคลมากเท่าใด นั่นหมายถึงสัญญาณของความพ่ายแพ้ได้เดินทางใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะ
A. เห็นด้วยครับ บุคคลมีความสำคัญในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์และเป็นผู้ปฏิบัติภารกิจบริหาร
ขบวนการประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ควบคุมขบวนการนั้นๆ เราต้องยอมให้พลวัตร
ประชาธิปไตยเป็นตัวขับเคลื่อนขบวนการประชาธิปไตยอย่าง แท้จริง พูดให้ง่ายคือต้องเอาพลัง
ทั้งสังคมมาปฏิวัติประชาธิปไตยให้ได้ ใครรวบรวมพลังเหล่านี้ได้ก็เป็นผู้นำขบวนการประชาธิปไตยได้
ผู้นำ ขบวนการประชาธิปไตยต้องไม่ใช่คนที่นั่งนอนรอประนีประนอมกับเขา
ต้องไม่ใช่คนที่หวังยังชีพไปพร้อมกับงานประชาธิปไตย และต้องไม่ใช่ตลกหน้าม่านที่ออกมา
ผ่อนคลายความตึงเครียดของคนแค่ชั่วครู่ ชั่วยาม แต่เมื่อได้ตัวมาแล้วก็ต้องควบคุมอัตตวิสัยของตน
ไว้ให้ดี กำเริบเมื่อไหร่ก็จะกลายเป็นเผด็จการตัวใหม่ทันที
Q. คุณคิดหรือไม่ว่าขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของบ้านเราในทุกวันนี้ เอาเข้าจริงแล้วมันก็
ยังลุ่มหลงอยู่ในมายาคติ มายาคติของการเทิดทูน บูชาความเป็นปัจเจกเสียมากกว่าที่จะดื่มด่ำหลงใหล
กับเนื้อหาอันแท้จริง
A. อย่าห่วงเลยครับ ประชาชนท่านแยกออก
Q. ที่คุณพูดว่าถึงเวลาสมควรพบก็ต้องพบกันนั้น หมายถึงอย่างไร
A. ท่านถามจากข้อเขียนของผมเมื่อสัปดาห์ก่อนในอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งต้องขอขอบคุณที่ได้อ่าน
ความหมายของผมตรงไปตรงมาไม่มีอะไรซับซ้อนหรอกครับ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเรา
ต้องกำหนดทิศทางโดยฝ่ายประชาชน ไม่ใช่ให้ศัตรูของประชาชนมากำหนด โดยใช้คดีความต่างๆ
บ้าง การกล่าวหาผ่านสื่อบ้างอะไรบ้าง มาเป็นเครื่องมือ เราจะต้องวางแผนให้รอบคอบและ
เดินหน้าของเราไป ถึงเวลาเมื่อไหร่เราก็ลงมือทำ ไม่ต้องไปรอเงื่อนเวลาใดๆ ที่เขากำหนดขึ้นมา
ให้หรอกครับ
Q. ประชาธิปไตย สังคมเป็นธรรม ในความรู้สึกของคุณนั้นคืออย่างไร
A. ความเป็นธรรมคือการได้รับโอกาสทางสังคมอย่างเต็มที่ จะให้โดยรัฐบาลก็ได้ ประชาชน
ให้กันเองก็ได้ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ มาสกัดกั้นขัดขวาง ผมรู้ว่าเราเลือกเกิดไม่ได้ และต้องมีคนที่
ได้รับโอกาสมากกว่าอีกคนหนึ่งเสมอในสังคม แต่สังคมจะต้องใส่ใจกับคนที่ไม่สามารถได้รับ
โอกาสนั้นได้ด้วยตนเอง และสร้างเครื่องมือช่วยเหลืออย่างชาญฉลาด โดยไม่เป็นการเอาเปรียบ
คนอื่นๆ ขึ้นมา ผมไม่ได้พูดถึงรัฐสวัสดิการอย่างเดียว แต่ยังพูดถึงการศึกษาและการพัฒนาต่อยอด
(education & re-training) ที่บริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อมวลชนที่รับใช้สังคมอย่าง
เสมอภาค ระบบศาสนาที่ตอบโจทย์ทางใจและจิตวิญญาณโดยไม่ลากลงต่ำไปกว่าเดิม ทั้งหมดนี้
เป็นเพียงตัวอย่างนะครับ
Q. มองย้อนไปบนเส้นทางชีวิต คุณรู้สึกมั้ยว่าความเป็นจักรภพในวันที่เป็นนักเรียนสาธิต
นิสิตจุฬา พนักงานซี.พี. หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความเป็น
จักรภพใน ฐานะคนหัวแถวของเสื้อแดง บางคนมองว่าการอธิบายหรือให้นิยามความเป็นคุณช่าง
เป็นเรื่องยาก เพราะแยกไม่ออกว่าสิ่งที่คุณเป็นนั้น มันคืออะไรกันแน่ อุดมการณ์ จิตสำนึก สันดาน
หรือจริตมายา
A. จะร้อนใจไปใย รอไว้จำกัดความในวันที่ผมตายแล้วก็ได้ เพราะผมยังต้องทำอะไรอื่นๆ อีกมาก
ยังไม่รู้ว่าจะเป็นคนดีหรือคนเลวในใจใคร วานซืนนี้ผมกินข้าวหมูแดงใส่กุนเชียง เมื่อวานกิน
ก๋วยเตี๋ยวแห้ง ตกเย็นได้กินอาหารญี่ปุ่นคือปลาดิบ และวันนี้เพิ่งจะเล่นข้าวราดแกงไปหมาดๆ จะ
สรุปนิสัยสันดานในการกินของผมอย่างไรดี ในความเป็นมาของชีวิต ผมยังเคยทำงานถวายสมเด็จ
พระเทพรัตนราชสุดาฯ ในโครงการหนังสือ “The Princess of All Peoples” เคยเป็นสื่อมวลชนอิสระ
ผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัทผลิตสื่อ อาจารย์มหาวิทยาลัย วิทยากรในสถาบันของทหาร รวมทั้ง
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรยาวนานหลายปี เป็นลูกหลานทหาร แม่มาจากตระกูลที่รับใช้รั้ววังมา
พี่เป็นข้าราชการระดับสูง อ่านหนังสือสลับกันระหว่างภาษาไทยกับอังกฤษมานานกว่ายี่สิบปี
เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฯลฯ จะสรุปความเป็นคนของผมอย่างไร
ผมเป็นคนชนิดไหน ผลประโยชน์ร่วมกันและขัดแย้งกับกลุ่มใด
อย่าเสียเวลากับตัวผมมากนักเลยครับ มาคุยกันเรื่องความคิด อุดมการณ์ และแผนงานดีกว่า
Q. คุณยังได้พุดคุยกับสื่อมวลชนต่างประเทศอยู่บ่อยๆ เหมือนเดิมหรือเปล่า วันนี้ของสื่อมวลชน
ต่างประเทศมีทัศนคติและมองประเทศไทยอย่างไร ความเชื่อมั่นของพวกเขาที่มีต่อประเทศไทย
เป็นเช่นไร ยังเป็นขุมทองของการลงทุน และแดนสวรรค์ของการท่องเที่ยวอยู่อีกหรือไม่
A. ผมสังสรรค์เสวนากับคนไทยและชาวต่างประเทศอยู่ตลอดเวลาครับ
ชาวต่างประเทศนั้นก็ทั้งคนเป็นรัฐบาล นักการเมืองในระบบพรรค ตุลาการสากล สื่อมวลชน
นักธุรกิจที่เขามองเมืองไทยอย่างใส่ใจและปรารถนาดี คนระดับหัวหน้ารัฐบาลก็ได้เข้าพบอยู่บ้าง
เมื่อได้พบแล้วเขาก็ถามคล้ายกันว่าเมืองไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป
นักธุรกิจส่วนมากก็ยังพอใจกับจริตแบบไทยๆ เห็นว่าเป็นความพิเศษกว่าชาติอื่นๆ อยู่
เขานั่งรอว่าเมื่อไหร่เมืองไทยจะกลับสู่สมดุลและจุดลงตัวของตน ก็จะกลับมาทุ่มทุนอีก ผมไม่ห่วง
เรื่องชื่อเสียงของประเทศในระยะยาว เพราะคนไทยร่วมกันทำชื่อเสียงที่ดีมามากพอ ส่วนการเมือง
ในระยะนี้เขาก็รู้กันดีว่าติดขัดที่ตรงไหน เขาก็รอให้ฝ่ายที่ขัดขวางระบอบประชาธิปไตยแพ้ภัยตัวเอง
ไปแล้วเขาก็คงเข้ามา
Q. คุณคิดยังไงกับความเห็นของหลายคนที่ว่ารัฐบาลอดีตนายกฯ ทักษิณทำให้ทุนนิยมชายขอบ
ของไทยก้าวสู่ความเป็นทุนนิยมโลก และมันไม่วันหวนกลับคืนมาอีกแล้ว ดังนั้นที่ๆ จะยืนอยู่ของ
ไทยบนเวทีโลกอย่างไรเสียมันก็หนีไม่พ้นโลกของทุนนิยม
A. ตอบกันจริงๆ มันก็เป็นเรื่องของวิถีการผลิต เพราะมนุษย์ต้องกินต้องใช้ ต้องมีปัจจัยสี่
คำถามคือจะได้สิ่งเหล่านี้มาจากไหน ระบบการผลิตของโลกถูกครอบด้วยลัทธิทุนนิยม นั่นคือเอา
ระบบตลาดหรือหลายคนเรียกอย่างเจ็บใจว่า ระบบความโลภ มาเป็นแรงขับดันให้อยากผลิต
อยากเผยแพร่ ผู้บริโภคก็ได้ตัวเลือกหลากหลายในแต่ละสินค้าและบริการ
นับเป็นผลประโยชน์ร่วมกันอย่างหนึ่ง
แต่ทุนนิยมสุดขั้วและล้าหลัง มันก็โลภ มันก็ตักตวง มันทำลายผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
และมันก็สร้างความขัดแย้งในสังคม คำตอบก็คือเราต้องใช้พลวัตรทางสังคมผลักให้เกิด
ระบบทุนนิยมก้าวหน้า และต้องให้แน่ใจว่าเป็น “ระบบทุนนิยมก้าวหน้า” ใน “ระบอบประชาธิปไตย”
ไม่ใช่ “ระบบทุนนิยมล้าหลัง” ใน “ระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตย”
แนวคิดที่จะหนีจากระบบทุนนิยมและใช้แนวคิดอื่นมากำกับระบบการผลิตนั้น
ผมยังไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะคนที่สอนให้คนอื่นรังเกียจทุนนิยมและวิจารณ์นักทุนนิยมคนอื่นๆ
ว่าเลวว่าชั่วนั้น ตัวเองก็ทุนนิยมเสียจนรวยล้นฟ้า
Q. ทุนนิยมสามานย์กับไม่สามานย์นี่มันต่างกันตรงไหน ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ชี้วัด
ทุนนิยมในศักดินากับทุนนิยมในสามัญชนอย่างไหนน่ากลัวกว่ากัน
A. สำหรับผม
ทุนนิยมสามานย์ หรือทุนที่เลว ต่ำ ชั่ว
คือทุนนิยมล้าหลังในระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตย ทุนนิยมที่พอยอมรับได้ แต่ต้องกดดันกันไว้ตลอด คือทุนนิยมก้าวหน้าในระบอบประชาธิปไตย
เกณฑ์ ชี้วัดโดยคร่าวคือ สิ่งที่ได้มาในเชิงมูลค่าเพิ่ม ต้องมากกว่าต้นทุนทางธุรกิจ
ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ พูดง่ายๆ คือสังคมต้องไม่ขาดทุน และประชาชนส่วนใหญ่
ต้องได้กำไรในเชิงเศรษฐศาสตร์
Q. มั่นใจหรือไม่ว่า เร็วๆ นี้คุณจะได้กลับเมืองไทย ได้กลับมาโลดแล่นทางการเมืองบนแผ่นดินแม่
A. ผมไม่สนใจนักว่าจะได้กลับมา “โลดแล่นทางการเมือง” แบบที่ท่านถามหรือไม่
เพราะทำงานการเมืองในระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตย คงไม่ต่างอะไรกับการมีเพศสัมพันธ์กับคนตาย
ไม่รู้สึกรู้สมและไม่เกิดอะไรขึ้นเลย ผมสนใจใช้เวลาศึกษาปัญหาในโครงสร้างการเมืองของประเทศ
ไทยเพื่อการแก้ไขใน ระยะยาวมากกว่า ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ ผมจะทันเห็นหรือไม่ย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ผมเคยบอกกับน้องๆ ที่มาสัมภาษณ์เกี่ยวกับปรัชญาชีวิตว่า ผมเห็นด้วยกับคำกล่าวของนักเขียนอเมริกัน
ที่ผมชื่นชอบมาก คือเรย์ แบรดบิวรี่ เขาบอกว่า “กระโดดลงเหวไปก่อน แล้วงอกปีกตามให้ทัน”
ผมเลือกที่จะมีชีวิตแบบนั้น.